เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2566 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา  เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายในการแก้ไขปัญหานักเรียน นักศึกษาออกกลางคัน หรือหลุดจากระบบการศึกษา โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้มอบนโยบายเป็นการเร่งด่วนให้สำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัด (สอจ.) ติดตาม ดูแล ขับเคลื่อนแบบเข้มข้น เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาที่ออกกลางคัน กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ซึ่งตนได้รับรายงานจำนวนนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา มีเด็กออกกลางคันในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 จำนวน 18,817 คน โดย สอศ. ไม่นิ่งนอนใจได้ดำเนินการ สั่งการให้ สอจ. และสถานศึกษาทั่วประเทศ กำชับ ติดตาม และรายงานผลการออกกลางคันของนักเรียน นักศึกษา ต่อ สอศ. โดยได้วางแนวทางดึงกลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่ออกกลางคันไปแล้วกลับเข้าศึกษาต่อ โดยกำหนด เช่น การจัดทำรายการและติดตามแก้ปัญหาของผู้เรียนรายบุคคลให้ชัดเจน แบ่งกลุ่มผู้เรียนที่นอกเหนือจากข้อมูลพื้นฐาน ดำเนินการวิเคราะห์ หาข้อสรุป พร้อมสนับสนุนงบประมาณเพื่อการดำเนินการต่อไป

เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่าสาเหตุที่นักเรียน นักศึกษาออกกลางคัน มีปัจจัยต่างๆ เช่น ครอบครัวมีฐานะยากจน ปัญหาครอบครัว สมรสแล้ว เจ็บป่วยและการเกิดอุบัติเหตุ ย้ายถิ่นฐานตามผู้ปกครอง สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เป็นต้น  ทั้งนี้ สอศ. พร้อมให้การช่วยเหลือทั้งการเทียบโอนวิชาที่เรียนมาเพื่อเข้าศึกษาต่อในสถานศึกษา การส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษาได้หารายได้ระหว่างเรียน การจัดหาทุนการศึกษา โดยร่วมกับหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน เช่น กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) การพิจารณาเด็กได้ย้ายไปเรียนในสาขาที่เด็กที่ต้องการ ปรับการเรียนการสอนและตารางเรียนให้เหมาะสมทันกับสถานการณ์ พร้อมทั้งดูแลด้านจิตใจ โดยจัดให้มีครูแนะแนวจิตวิทยาในสถานศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้อย่างมีศักยภาพ เกิดทักษะอาชีพ ส่งต่อให้ผู้เรียนอาชีวะทุกคนมีสมรรถนะในการประกอบอาชีพในอนาคต ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ โดย สอศ. จะดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อนำเด็กที่ออกกลางคันกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาเพื่อสร้างความเสมอภาคและเท่าเทียม

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments