เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 ดร.อัมพร  พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ให้สัมภาษณ์กรณี กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)สำรวจข้อมูลสถานศึกษา นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ภาคเรียนที่ 2  ปีการศึกษา 2566 พบตัวเลขเด็กออกกลางคัน 52,808 คน  โดยเป็นนักเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 21,364 คน ว่า ถือเป็นจำนวนที่มากจนน่าตกใจ แต่ยังไม่แน่ใจว่า ตัวเลขดังกล่าว มาจากข้อมูลใดบ้าง ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้สำนักนโยบายและแผนการศึกษา สพฐ. ไปศึกษารายละเอียด เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ อย่างไรก็ตามตัวเลขดังกล่าวถือว่า ไม่ปกติ จึงขอดูรายละเอียดก่อน ส่วนเด็กออกกลางคันปีอื่น ๆ นั้น ภาพรวมเหลือไม่มากแล้ว เพราะที่ผ่านมา สพฐ. ได้ติดตามเด็กกลับเข้าเรียนตามโครงการพาน้องกลับมาเรียน

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า  ส่วนจำนวนผู้เรียนสายสามัญต่ออาชีวศึกษา ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 68.9 ต่อ 31.1 นั้น ยอมรับว่า ที่ผ่านมาผู้เรียนสายสามัญเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การเพิ่มยอดผู้เรียนสายอาชีพ ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย 50:50 ตามนโยบายที่วางไว้ ส่วนหนึ่งเพราะผู้ปกครองและนักเรียน ยังไม่นิยมส่งลูกไปเรียนสายอาชีวะเพราะกังวลในเรื่องของการมีงานทำ และค่าตอบแทนที่เหมาะสม ทาง สพฐ.เองก็ประสานความร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)ในการแนะแนว เพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียน โดยเฉพาะกลุ่มขาดแคลน ให้มาเรียนสายอาชีพ  ทำความร่วมมือกับผู้ประกอบการ จัดการเรียนการสอนระบบทวิภาคี ให้เด็กสามารถเรียนและทำงานไปด้วย เมื่อจบแล้วมีงานรองรับและมีรายได้อย่างแน่นอน

“ยอมรับว่า ตัวเลขเด็กเข้าเรียนสพฐ. เพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้ปกครองขาดสภาพคล่อง ผู้ปกครองนักเรียน โรงเรียนเอกชนบางแห่ง ก็อาจต้องย้ายเด็กมาเรียนโรงเรียนสังกัดสพฐ. ซึ่งไม่ใช่แค่เอกชนเท่านั้น จากการวิเคราะห์น่าจะมีสังกัดอื่นย้ายมาเรียนสังกัดสพฐ.ด้วย ส่วนเหตุผลที่ย้ายมาจะเกิดจากปัจจัยใดนั้น สพฐ.ยังไม่ไม่มีรายละเอียด แต่ในส่วนสพฐ. ก็เตรียมพร้อมรองรับทั้งอาคารสถานที่ และทรัพยากรในเรื่องของการเรียนการสอน”ดร.อัมพรกล่าวและว่า ส่วนข้อมูล แนวโน้มการเกษียณอายุราชการของครู ในสังกัดสพฐ. ในระยะ 10 ปีนับจากนี้ แต่ละปี จะมีมากกว่า 11,000 คน โดยปี 2566 จะมีครูที่สอนระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานเกษียณอายุราชการถึง 19,739 คน ปี 2567  จะมีครูเกษียณ 17,685 คน นั้น  ถือว่า เป็นอัตราปกติ และไม่มีปัญหาในเรื่องของการหาครูทดแทน เพราะปัจจุบัน สถาบันผู้ผลิตก็ผลิตครูออกมาจำนวนมาก ส่งผลให้บางสาขามีมากเกินความต้องการของ สพฐ. ส่วนจะเป็นสาขาใดบ้างนั้น สพฐ.คงไม่สามารถบอกได้ เพราะต้องไปดูความต้องการของสังกัดอื่น ๆ ด้วย อย่างสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ก็อาจมีความต้องการในสาขาที่เกินความต้องการของ สพฐ.ก็ได้

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวด้วยว่า ส่วนปัญหาขาดแคลนครูของสพฐ. นั้น ภาพรวมจำนวนครูเพียงพอ แต่ขาดในกรณีที่อัตราการเกิดลดลงทำให้ตัวป้อนคือ นักเรียนที่จะเข้าเรียนลดลง  เช่น โรงเรียน ก. จำนวนเด็กลดลง แต่จำนวนครูผู้สอนยังเท่าเดิม ทำให้มีครูเกินกว่าจำนวนเด็ก ขณะที่บางโรงเรียนมีครูไม่สอดคล้องกับจำนวนเด็ก โรงเรียนที่เกินก็ไม่ยอมขอย้าย เพราะหลักเกณฑ์การย้ายกำหนดให้เป็นไปตามความสมัครใจ ทำให้เกิดปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมา สพฐ.พยายามแก้ไขปัญหา โดยให้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เกลี่ยอัตรากำลังไปยังโรงเรียนที่ขาดแคลนให้ได้มากที่สุด รวมถึงหาแรงจูงใจให้ครูในโรงเรียนที่เกินย้ายไปในโรงเรียนที่ขาดมากขึ้น เช่น วิทยฐานะ ฯลฯ แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้มากนัก

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments