เมื่อวันที่ 12 เมษายน  2566 ที่ห้องประชุมอาคารอนุสรณ์ 100 ปี โรงเรียนกัลยาณวัตร  อ.เมืองขอนแก่น  จ.ขอนแก่น  ดร.อัมพร  พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)เป็นประธานการประชุมผู้บริหารการศึกษา  ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้อำนวยการกลุ่ม/หน่วย ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาขอนแก่น พร้อมมอบนโยบาย การขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเปิดต้นแบบสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาด้านความปลอดภัยและการป้องกัน แก้ไขปัญหาภาวะซึมเศร้าในนักเรียนด้วยนวัตกรรม “พร้อมกอดเสี่ยวฮักโมเดล” (PROMPT GHOD SIAO HUGS Model) เพื่อให้เป็นนวัตกรรมในการนำไปใช้ดำเนินงานด้านความปลอดภัย โดยให้สถานศึกษาในสังกัดทุกแห่งนำไปเป็นแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหรือเผชิญเหตุเมื่อพบภาวะซึมเศร้าในนักเรียน

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า จากการที่ตนและคณะได้ติดตามนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจนักเรียน ผู้ปกครอง ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไฟคลอกในกิจกรรมค่ายลูกเสือแห่งหนึ่งในจังหวัดหนองบัวลำภู และถูกส่งตัวมารักษาต่อที่จังหวัดขอนแก่น พร้อมทั้งเยี่ยมให้กำลังใจนักเรียนที่เข้ารับการรักษาอันเนื่องมาจากภาวะซึมเศร้าที่โรงพยาบาลขอนแก่น ซึ่งปัจจุบันพบว่าภาวะซึมเศร้าเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่ส่งผลด้านลบต่อนักเรียนและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของจังหวัดขอนแก่นว่าเป็นจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอีสาน เป็นศูนย์รวมทางการแพทย์สาขาต่างๆมีมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนนักศึกษาแพทย์พยาบาลหรือคณะศึกษาศาสตร์อยู่ในที่เดียวกัน และ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขอนแก่นมีความพร้อมในการขับเคลื่อนโครงการ เพื่อหารูปแบบในการแก้ไขปัญหาโรคซึมเศร้าในตัวครูและนักเรียน เพื่อให้โรงเรียนเป็นโรงเรียนแห่งความสุข เป็นโรงเรียนนำร่อง ในการทดลอง และแบ่งขนาดของโรงเรียน เป็น โรงเรียนขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก และมีการถอดบทเรียน ทั้งภาพความสำเร็จ และความล้มเหลว จากนั้นจะพัฒนารูปแบบจนเห็นปัจจัย เห็นรูปแบบที่ชัดเจน เพื่อนำไปเผยแพร่และนำไปใช้ทั่วประเทศต่อไป  ซึ่งวันนี้ สพม.ขอนแก่น ได้ดำเนินการสำเร็จแล้ว โดยนวัตกรรมดังกล่าวชื่อว่า “พร้อมกอดเสี่ยวฮักโมเดล” (PROMPT GHOD SIAO HUGS Model) ซี่งนำจุดแข็งของวัฒนธรรมอีสาน คือ “เสี่ยว” ที่หมายถึง เพื่อนรัก เพื่อนแท้ เกลอ กล่าวคือ บุคลากรทางการศึกษาทุกระดับ ภาคีเครือข่ายทุกองค์กร ในจังหวัดขอนแก่น ที่ร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะซึมเศร้าในนักเรียน เปรียบเสมือน “เสี่ยว” ที่พร้อมร่วมมือกันในการช่วยเหลือลูกๆนักเรียนให้ห่างไกลจากภาวะซึมเศร้า และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

ดร.ศักดา ชัยภัย ผู้อำนวยการ สพม.ขอนแก่น กล่าวว่า ตามที่ได้รับมอบหมายจากนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ สพม.ขอนแก่นจัดทำนวัตกรรมดังกล่าว จึงได้ดำเนินการประชุมและแต่งตั้งคณะทำงานในการแก้ไขปัญหาภาวะซึมเศร้าในนักเรียน ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ และความปลอดภัย ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น โรงพยาบาลขอนแก่น โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น ศูนย์สุขภาพจิตที่ 7 ตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 4 สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดขอนแก่น จนเกิดเป็นนวัตกรรมดังกล่าว เพื่อให้สถานศึกษาในสังกัดทุกแห่งนำไปเป็นนวัตกรรมในการป้องกันและแก้ไขภาวะซึมเศร้าในนักเรียน และเป็นแนวทางให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอื่นๆ ได้นำไปใช้ต่อไป

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments