เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ฐานะประธานสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล เป็นประธานเปิดป้ายสถาบันภาษาจีน และการศึกษาอบรมด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา ที่ สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา ถนนรามอินทรา กรุงเทพฯ โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง ผู้อำนวยการสำนัก/ศูนย์/หน่วยงาน และวิทยาลัยในสังกัด สอศ. H.E. Mr. Han Zhiqiang เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย Mr. Hu Zhiping รองผู้อำนวยการศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศ เข้าร่วมพิธี
สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) กล่าวว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนให้ความสำคัญในการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย มานานกว่า 20 ปี โดยได้ส่งครูอาสาสมัครชาวจีน มาประเทศไทยจำนวนมาก และมอบทุนการศึกษาในทุกระดับชั้น โดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอน ภาษาจีน+ทักษะวิชาชีพ ตามยุทธศาสตร์ “ก้าวออกไป” ของสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อสนับสนุนโครงการ “ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” โครงการไทยแลนด์ 4.0 และโครงการ EEC (มุ่งเน้นการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ EEC ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศไทย โดยอาชีวศึกษามีการเรียนการศึกษาครบทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การค้า ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งสาธารณรัฐประชาชนจีนมีความต้องการกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงเพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมดังกล่าว อีกทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประเทศที่มีนวัตกรรมการเรียนการศึกษาอาชีวะอันดับหนึ่งของโลก จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ประเทศไทยได้ร่วมมือแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ และพัฒนากำลังอาชีวศึกษา
ด้าน ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า จากนโยบายการพัฒนาและยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาด้านอาชีวศึกษาสู่สากล ของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งให้ความสำคัญของการพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ให้มีสมรรถนะด้านภาษาจีนเพิ่ม นอกจากภาษาอังกฤษ เนื่องจากประเทศไทยมีเป้าหมายในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม โดยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ทั้งในอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม (First S-curve) และอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-curve) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งภาคการผลิตและอุตสาหกรรมของประเทศ สาธารณะประชาชนจีนถือเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยมีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมไทย-จีน ในหลายพื้นที่ ทำให้ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีสมรรถนะทางภาษา สมรรถนะทางวิชาชีพ ที่สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการและการลงทุนของจีนในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จึงได้มีความร่วมมือกับศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศ (Center for Language Education and Cooperation: CLEC) กระทรวงศึกษาธิการแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อจัดตั้งสถาบันภาษาจีนและการศึกษาอบรมด้านเทคนิคและอาชีวะ ซึ่งจะเป็นหน่วยงานที่ดำเนินกิจกรรมความร่วมมือด้านภาษาจีนและการศึกษาอบรมฯ โดยมีแนวทางความร่วมมือระหว่างกัน เช่น การส่งครูจีนมาสอนภาษาจีนในประเทศไทย การสนับสนุนทุนการศึกษาหรือทุนฝึกอบรมให้ครูไทยมีทักษะในการสอนภาษาจีน การพัฒนาหลักสูตรภาษาจีน การสร้างโอกาสให้นักเรียนนักศึกษา อาชีวศึกษาได้เข้าฝึกงานในสถานประกอบการจีนในประเทศไทย โดยได้จัดตั้งสำนักงานบริหาร สถาบันภาษาจีนและการศึกษาอบรมด้านเทคนิคและอาชีวะ ณ สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา และมีเป้าหมายจะขยายการดำเนินกิจกรรมไปยังสถานศึกษาในสังกัด สอศ. ต่อไป
เลขาธิการ กอศ. กล่าวด้วยว่า หลังจากพิธีเปิดป้ายสถาบันภาษาจีน และการศึกษาอบรมด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา ในครั้งนี้ จะได้ดำเนินการจัดทำแผนการศึกษาร่วมกันเพื่อพัฒนานักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษาให้เป็นไปตามเป้าหมาย พร้อมทั้งพัฒนาครู บุคลากรอาชีวศึกษา โดยมีการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ระหว่างประเทศ เพื่อจะสร้างกำลังคนอาชีวศึกษาให้มีสมรรถนะสูง เพื่อการพัฒนาประเทศ ซึ่ง สอศ. ได้ดำเนินการมาตลอด และครั้งนี้ได้เห็นถึงความก้าวหน้าและมีการขยายผล การถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างจีนและไทย สร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชน การร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นการเตรียมกำลังคนอาชีวศึกษาในการพัฒนาการศึกษา พัฒนาเศรษฐกิจ และพัฒนาประเทศ และกระชับสัมพันธไมตรีที่ดีระหว่างไทยและจีน