เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา  เป็นประธานการแถลงข่าว ” 3 เร่ง 3 ลด 3  เพิ่ม : ฟื้นฟูพัฒนาการเด็กปฐมวัย ทางรอดประเทศไทย” โดยมี นางสุภาวดี หาญเมธี ประธานคณะอนุกรรมการด้านสื่อสารเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย ผศ.ดร.ศรัญญ์ทิตา ชนะชัยภูวพัฒน์  ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  นางพัชราพรรณ กฤษฎาจินดารุ่ง ผู้อำนวยการสำนักนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย  นางนันทิชา ไวยนพ  ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร   ผู้ทรงคุณวุฒิ และสื่อมวลชน ร่วมถ่ายทอดบทเรียนและนวัตกรรมการแก้ปัญหาเพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพัฒนาการของเด็กปฐมวัยหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และถ่ายทอดสดทาง Facebook / Youtube Live ภายใต้ชื่อ “OEC NEWS สภาการศึกษา”

ดร.สุเทพ   กล่าวว่า กว่า -3 ปีของการเรียนออนไลน์ในช่วงโควิด ผลักให้เด็กเข้าสู่ภาวะการเรียนรู้ถดถอย หรือ Learning Loss อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ความสูญเสียโอกาสที่จะได้สร้างพัฒนาการยิ่งซ้ำเติมให้เด็กยุคโควิดกลายเป็น Lost Generation หลุดออกจากระบบการศึกษา ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างรุนแรง โมเดล “3 เร่ง 3  ลด 3 เพิ่ม” จึงเป็นทางรอดของไทยที่จะช่วยฟื้นคืนพัฒนาการเด็กปฐมวัยให้สมวัยและเติบโตขึ้นอย่างมีความสุข ประกอบด้วย “3 เร่ง” ได้แก่ 1.เร่งกำหนด “การฟื้นฟูเด็กปฐมวัย เป็นวาระแห่งชาติ” เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และเป็นไปทั้งระบบจนเกิดผล 2.เร่งให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ปกครอง ครู ผู้ดูแลเด็ก และสังคม 3.เร่งค้นหา เยียวยา และพัฒนาเด็กในภาวะเปราะบาง “3 ลด” ได้แก่ 1.ลดการใช้สื่อหน้าจอในเด็กปฐมวัยอย่างจริงจัง 2.ลดความเครียดคืนความสุขแก่เด็ก 3.ลดการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก “3 เพิ่ม” ได้แก่ 1.เพิ่มกิจกรรมฟื้นฟูพัฒนาการที่เสียไป โดยเฉพาะเพิ่มกิจกรรมทางกาย เพิ่มการอ่านนิทาน และเพิ่มการเล่น 2.เพิ่มสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 3.เพิ่มศักยภาพบุคลากรและระบบนิเวศใกล้ตัวเด็ก ผ่านการเสริมพลังครอบครัว สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย และเครือข่ายชุมชน

นางสุภาวดี  กล่าวว่า การแถลงข่าวในครั้งนี้เป็นเวทีที่ผู้ทรงคุณวุฒิได้ร่วมกันฉายความหวังในการส่งเสริมเด็กปฐมวัยอย่างรอบด้าน ได้แก่ บทบาทใหม่ของครูและผู้ปกครองต่อการฟื้นฟูพัฒนาการเด็ก วิธีการดูแลสุขภาพใจของเด็กเล็กในช่วงโควิด การช่วยเหลือเด็กให้ก้าวข้ามภาวะสูญเสียทางการเรียนรู้ และการเลี้ยงลูกให้สอดคล้องกับบริบทสมัยใหม่ โดยเฉพาะการใช้สื่อหน้าจอหรือโทรศัพท์มือถือที่งานวิจัยจากทั่วโลกชี้ชัดว่ าทำลายสมองเด็กเล็กอย่างรุนแรง และห้ามใช้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบอย่างเด็ดขาด  ซึ่งหลังจากนี้ คณะอนุกรรมการสื่อสารฯ และ สกศ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย จะร่วมระดมกำลังจากทุกฝ่ายบูรณาการงานตามแนวทาง “3 เร่ง 3  ลด 3 เพิ่ม” เพื่อเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ฟื้นฟูพัฒนาการเด็กปฐมวัยในระยะเวลาอันสั้น เพื่อให้ในระยะยาวประเทศจะไม่สูญเสียพลเมืองคุณภาพจากพัฒนาการที่สูญเสียไปของเด็กปฐมวัยแต่อย่างใด

ผศ.ดร.ศรัญญ์ทิตา  กล่าวถึงการสนับสนุนโครงการ “สื่อเพื่อฟื้นฟูการพัฒนาเด็กปฐมวัย ในวิถีชีวิตใหม่” ว่า ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่สื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อชีวิตคนทุกวัย เด็กปฐมวัยก็ได้รับผลจากการที่ผู้ใหญ่ยื่นสื่อหน้าจอให้อย่างไม่มีข้อจำกัด ในช่วงโควิด ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อพัฒนาการทุกด้านของเด็กมาต่อเนื่อง ดังนั้น เมื่อคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ และสำนักนโยบายปฐมวัย สภาการศึกษา พร้อมด้วยภาคีวิชาการกว่า 40 องค์กร ได้ช่วยกันจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย “3  เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม” กองทุนสื่อฯ ร่วมกับภาคีจึงได้ขอนำข้อมูลวิชาการที่ได้ มาแปลงสาร ผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ต่างๆ ให้เกิดเป็นสื่อหลากหลายรูปแบบที่เหมาะสม เพื่อเผยแพร่ไปในช่องทางหลากหลาย ให้กระจายไปยังสาธารณชนอย่างกว้างขวาง

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments