เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุม “แผนการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันทางการแข่งขันทางการศึกษาไทยในเวทีโลก” โดยมี นางอำภา พรหมวาทย์ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สกศ. นางเพทาย บุญมี ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร สกศ. ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต อาคาร 2 ชั้น 2 สกศ.
นางอำภา กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีหมุดหมายสำคัญคือ การสร้างความเข้าใจและนำความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงานมาเติมเต็มแผนการยกระดับดังกล่าวให้สามารถขับเคลื่อนงานในทุกภาคส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ที่ผ่านมาผลการประเมินความสามารถด้านการแข่งขันทางการศึกษาของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับนานาชาติ ยังมีข้อกังวลที่ต้องเร่งแก้ไข เช่น ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ อัตราการเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษา รวมถึงบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาบางส่วนมีสมรรถนะไม่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ สกศ. จึงได้จัดทำ “แผนการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันทางการแข่งขันทางการศึกษาไทยในเวทีโลก” โดยร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บข้อมูลและระบบสารสนเทศให้ครบถ้วนและทันสมัย ด้วย 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
1) ยกระดับผลการประเมิน PISA หรือโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ เล็งอัปคะแนนเฉลี่ย PISA ในแต่ละวิชาไม่น้อยกว่า 470 คะแนน ภายในปี 2570 มุ่งให้เด็กไทยอ่านออกเขียนได้ มีทักษะการคิดวิเคราะห์ ประยุกต์ความรู้เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพได้เป็นอย่างดี
.
2) ยกระดับผลการจัดอันดับ IMD หรือดัชนีความสามารถทางการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ โดยในปี 2565 อันดับ IMD ด้านการศึกษาไทยทะยานขึ้น 3 อันดับ อยู่ที่อันดับ 53 แผนยกระดับฯ จะเข้ามาช่วยผลักดันการแก้ปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำ ด้วยการจับมือกับทุกองค์กรช่วยสร้างโอกาสการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม หวังขยับอันดับ IMD ด้านการศึกษาของไทยสู่อันดับที่ 40 ภายในปี 2570
.
3) การยกระดับผลการจัดอันดับ WEF หรือดัชนีความสามารถทางการแข่งขันของสภาเศรษฐกิจโลก ด้วยการจัดการศึกษาให้สามารถผลิตกำลังคนสมรรถนะสูง ปั้นคนตรงสเปคตลาดแรงงาน เพื่อให้เด็กไทยทุกคนมีงานทำ
“ผู้แทนจากทุกหน่วยงานและทีม สกศ. ได้หารืออย่างเข้มข้น เพื่อนำข้อมูลการศึกษาของแต่ละหน่วยมายืนยันถึงความสำเร็จในกลุ่มตัวชี้วัดทั้งจากผลการทดสอบ สถิติ และข้อมูลทุติยภูมิ เบื้องต้นแต่ละองค์กรจะส่งแผนปฏิบัติราชการที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับผลการจัดอันดับต่าง ๆ มายัง สกศ. เพื่อประมวลผลและสังเคราะห์ข้อมูลมาต่อยอดยุทธศาสตร์ทั้ง 3 ด้าน โดยมีจุดเน้นในการดำเนินงาน คือ การร่วมกันกำหนดเป้าหมายด้านการศึกษาไทย สร้างความเข้าใจให้ภาคเอกชนรับทราบผลการจัดการศึกษาตามประเด็นที่อยู่ในการสำรวจความเห็นของ IMD และจะมีการบูรณาการแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อใช้ประโยชน์ด้านความต้องการ (Demand) และข้อมูลด้านการผลิตกำลังคน (Supply) เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทยต่อไป” ผอ.สำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สกศ.กล่าว