เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมได้พิจารณาทบทวนการใช้เงินของ สกสค.จัดกิจกรรมแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามที่คณะกรรมการบริหารโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของสำนักงาน สกสค.เสนอมา โดยคณะกรรมการบริหารโครงการฯ รายงานว่า หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ ) และสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ได้ประสานขอความร่วมมือและขอรับการสนับสนุนงบประมาณของ สกสค.วงเงินประมาณ 100 ล้านบาท ในการดำเนินโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ จำนวน 2 โครงการ คือ 1.อบรมพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อสร้างวินัยทางการเงินสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และ 2. การอุดหนุนกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ ภายใต้โครงการการจัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย “Unlock a better life” สร้างโอกาสใหม่ เพื่อชีวิตครูไทยที่ดีกว่า ซึ่งหลังจากบอร์ด สกสค.ได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการไปแล้ว นั้น ทาง สป.ศธ. ได้มีหนังสือแจ้งมายังสำนักงาน สกสค.โดยระบุว่า ตามที่ สป.ศธ.ขอรับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ และจัดส่งแผนการใช้จ่ายเพื่อขอเบิกงบประมาณไปดำเนินกิจกรรมต่างๆ แต่ สกสค.ยังไม่ได้มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณามายัง สป.ศธ. ดังนั้น สป.ศธ.จึงขอแจ้งไม่ประสงค์ขอรับการสนับสนุนงบประมาณดังกล่าวจาก สกสค.แล้ว
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า บอร์ด สกสค.ได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบตามที่ สป.ศธ. แจ้งไม่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินงานตามนโยบาย ศธ.ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งที่ประชุมเห็นสอดคล้องกันว่า การที่กระทรวงศึกษาธิการจัดกิจกรรมตามภูมิภาค เป็นการเปิดโอกาสให้ครูและสถาบันการเงินมาพบเจรจากัน จะช่วยให้ครูได้รับการดูแลช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินสอดคล้องตามความต้องการและจำเป็นของแต่ละบุคคล หาก สป.ศธ.รอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก สกสค. อาจกระทบต่อแผนการดำเนินงาน และการที่ สป.ศธ.ใช้งบประมาณของ สป.ศธ มาจัดกิจกรรม จะทำให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูมีความต่อเนื่องและเกิดประโยชน์ต่อครูฯโดยทั่วกัน และจะไม่มีการโอนเงินของ สกสค.ให้ ศธ.จัดกิจกรรมแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯแต่อย่างใด
น.ส.ตรีนุช กล่าวด้วยว่า ในส่วนของกิจกรรมอบรมพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อสร้างวินัยทางการเงินสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของ สพฐ.นั้น คณะกรรมการบริหารโครงการฯได้เสนอว่าถึงแม้จะเป็นกิจกรรมที่ดีที่จะช่วยครูฯให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ป้องกันไมให้เกิดปัญหาหนี้สิน แต่เนื่องจากครูและบุคลากรทางการศึกษาใน ศธ.มีจำนวนมากกว่า 5 แสนราย ซึ่งงบประมาณที่ สกสค.ได้รับอนุมัติไว้เดิมจะจัดอบรมไม่ครอบคลุมจำนวนครูทั้งหมด หากจะจัดอบรมให้ทั่วถึงอาจจะมีข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณ ประกอบกับระบบที่เกี่ยวข้องอาจจะต้องจัดหาระบบเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ในการอบรม ซึ่งบอร์ด สกสค.ได้พิจารณาและก็เห็นสอดคล้องกับคณะกรรมการบริหารโครงการฯ จึงมีมติให้ชะลอและทบทวนการจัดกิจกรรม ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา
ด้านดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เดิมบอร์ด สกสค.มีมติเห็นชอบโครงการฯ เพื่อขับเคลื่อนเรื่องป้องกันและแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยครั้งแรกที่จัดมหกรรมแก้ไขหนี้ครูที่ส่วนกลางสิบกว่าล้านบาททาง สป.ศธ.ก็ใช้เงินของ สป.ศธ.เองในการดำเนินการ แต่เมื่อจะขับเคลื่อนในระดับภูมิภาค (4 ภูมิภาค 5 จังหวัด)จึงได้ทำหนังสือถึงบอร์ด สกสค.เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ ซึ่งบอร์ด สกสค.ก็ให้ สป.ศธ.ส่งแผนการดำเนินงานไปให้ เราก็ส่งแผนการขับเคลื่อนโครงการระดับภูมิภาคไปให้ แต่ก็ไม่ได้มีการตอบกลับมา กระทั่งมีการจัดงานกิจกรรมแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งก็ใช้งบประมาณของ สป.ศธ.เองเช่นกัน และจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีคำตอบเรื่องการสนับสนุนงบประมาณจาก สกสค. ดังนั้น สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สป.ศธ. จึงแจ้งมาว่าจะหาเงินของ สป.ศธ.มาใช้เอง เพราะผลที่ได้จากการจัดกิจกรรมส่งถึงครูมากกว่าเฉพาะครูที่เป็นสมาชิก ชพค.
ผู้สื่อข่าวถามว่า ส่วนที่ยังไม่ได้จัดกิจกรรมแก้หนี้ครูอีก 4 จังหวัด จะจัดต่อหรือไม่ ดร.อรรถพล กล่าวว่า ก็คงต้องจัด เพียงแต่กิจกรรมที่จะจัดในจังหวัดอื่นที่เหลือก็จะลดขนาดของงานลง อย่างไรก็ตาม ตนได้มอบให้ ดร.พิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัด ศธ. รักษาการ เลขาธิการ สกสค.ไปสำรวจตัวเลขที่เคยจัดกิจกรรมไปแล้วว่า ที่จัดกิจกรรมไปนั้นประโยชน์ไปถึงสมาชิกมากน้อยแค่ไหน มีสมาชิกเข้ามาให้ช่วยเหลือเท่าไหร่ และสามารถลดหนี้ได้เท่าไหร่