เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการของโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ย่านอ่อนนุช มายื่นหนังสือร้องเรียน ถึงสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) โดยมีนายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เป็นผู้รับเรื่อง ทั้งนี้ กลุ่มผู้ปกครอง ชูข้อความระบุว่า “ผู้บริหารอยู่ไหน สงสารเด็ก มารับผิดชอบต่อการตัดสินใจของพวกคุณด้วย ใจร้าย อย่าทำกับเด็กแบบนี้” “แจ้งปิดร.ร.กะทันหันให้เวลา 14 วัน ไม่ทันเตรียมตัว มีผลกระทบหนักผอ.อยู่ไหน” โดยนางศิริพร นวมสุข ตัวแทนผู้ปกครองของนักเรียนชั้น ป.4 และ ป.6 กล่าวว่า พวกเราได้สรุปผลกระทบที่ได้รับจากการปิดโรงเรียนกะทันหัน จำนวน 8 ข้อ ดังนี้ 1.โรงเรียนแห่งนี้ เปิดสอนระดับเตรียมอนุบาล ถึงประถมศึกษา (ป.) ปีที่ 6 และเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมาทางผู้บริหารโรงเรียนได้ส่งหนังสือถึงผู้ปกครอง แจ้งว่าทางโรงเรียนจะปิดกิจการในปีการศึกษา 2566 ทำให้ผู้ปกครองได้รับผลกระทบอย่างมาก จากการแจ้งปิดกะทันหันในครั้งนี้ 2.ผู้บริหารโรงเรียน ไม่มีความรับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าว เพราะเมื่อผู้ปกครองขอเข้าพบผู้บริหารของโรงเรียน เพื่อเจรจาพูดคุยและหารือมาตรการเยียวยา เนื่องจากการปิดกิจการ แต่ทางผู้บริหารของโรงเรียนบ่ายเบี่ยงไม่ยอมให้ผู้ปกครองเข้าพบ 3.ผู้ปกครองต้องหาโรงเรียนใหม่เพื่อให้บุตรหลานไม่ทันเวลา นักเรียนหลายคนยังไม่มีที่เรียน นักเรียนเสียสิทธิในการสมัครเข้าเรียนในโรงเรียนหลายแห่ง เพราะโรงเรียนแจ้งว่าจำนวนนักเรียนเต็มแล้ว ผู้ปกครองบางคนยังหมดโอกาสที่จะเตรียมหาที่เรียนที่เหมาะสมให้กับบุตรหลาน เพราะเวลากระชั้นชิดเกินไป ตลอดจนหมดโอกาสที่จะเลือกโรงเรียนที่สามารถเดินทางรับส่งบุตรหลานที่ไม่ไกลบ้าน และสะดวกต่อการเดินทางของผู้ปกครองในการทำงาน

4.ผู้ปกครองได้รับความเดือดร้อนในเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องไปสมัครเรียนที่ใหม่ เพราะต้องชำระค่าเทอมที่โรงเรียนใหม่ทันทีเป็นเงินสดเต็มจำนวน นอกจากนั้นผู้ปกครองยังต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่ไม่ได้มีการเตรียมตัว เช่น ค่าเครื่องแบบ ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเรียนปรับพื้นฐาน ค่าเรียนซัมเมอร์ เป็นต้น ซึ่งอาจจะเสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 10,000-30,000 บาท 5. ผู้ปกครองหลายคนซื้อเครื่องแบบนักเรียน อุปกรณ์การเรียนกับทางโรงเรียนเดิมไว้จำนวนมาก เพื่อให้นักเรียนมีใช้ในระยะยาว แต่ทางโรงเรียนกลับแจ้งปิดกะทันหัน 6.ผู้ปกครองหลายคนต้องเป็นหนี้ บางคนรูดบัตรเครดิต เนื่องจากต้องชำระค่าเล่าเรียนใหม่เต็มจำนวน 7.ทางโรงเรียนมีพฤติกรรมที่น่าสงสัย เพราะครูประจำชั้นให้ผู้ปกครองกรอกเอกสารคำร้องขอย้ายโรงเรียน ซึ่งในความจริงแล้วทางผู้ปกครองไม่ได้มีความประสงค์ที่จะย้าย แต่เป็นเพราะโรงเรียนปิดกิจการ ผู้ปกครองเพียงแค่รอรับเอกสารทางการศึกษา และสมุดพก เพื่อนำไปสมัครเรียนเท่านั้น แต่ทางโรงเรียนกลับปฏิบัติเหมือนผู้ปกครองยินดีจะย้ายบุตรหลานไปเรียนที่อื่นเอง และ 8.นักเรียนหลายคนมีอาการซึมเศร้า เนื่องจากต้องแยกย้ายจากเพื่อนตนเอง ซึ่งส่งผลกระทบด้านจิตใจต่อเด็กอย่างรุนแรง

นางศิริพร กล่าวต่อไปว่า โรงเรียนมีนักเรียนกว่า 600 คน ตอนนี้ เราได้รวบรวมรายชื่อผู้ปกครอง และนักเรียนที่ได้รับผลกระทบกว่า 200 คนแล้ว อยากให้ผู้บริหารโรงเรียนมาพูดคุย หารือกับผู้ปกครอง ว่าจะเยียวยานักเรียนที่ได้รับผลกระทบอย่างไร เช่น อาจจะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเข้าโรงเรียนใหม่ เพราะเมื่อสมัครโรงเรียนใหม่ ผู้ปกครองมีค่าใช้จ่ายเยอะมาก และก่อนหน้าที่โรงเรียนไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะปิดกิจการ แม้ว่าโรงเรียนขาดทุนจริง ทางโรงเรียนควรเรียกประชุมผู้ปกครองเพื่อหารือให้ผู้ปกครองสามารถวางแผนให้บุตรหลานของตนได้ หากโรงเรียนไม่มาเจรจา หรือหาข้อยุติไม่ได้ อาจจะฟ้องโรงเรียนต่อไป

นายมณฑล กล่าวว่า น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. และนายอรรถพล สังขวาสี ปลัด ศธ.​ มีความห่วงใยเรื่องนี้มาก ซึ่ง สช.จะช่วยประสานกับโรงเรียนในสังกัดต่างๆ และจะเชิญผู้ปกครอง และโรงเรียนในกลุ่มเป้าหมาย ที่จะย้ายเด็กไปเรียน มาพูดคุยเพื่อหาทางช่วยเหลือให้นักเรียนทุกคนได้มีที่เรียน จากการตรวจสอบพบว่าโรงเรียนดังกล่าว ยื่นหนังสือขอยกเลิกกิจการ โดยให้เหตุผลว่าในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 โรงเรียนประสบสภาวะขาดทุน และมีผู้ปกครองบางคนค้างจ่ายค่าเทอมจำนวนมาก ทำให้โรงเรียนขาดสภาพคล่อง ถ้าโรงเรียนดำเนินการต่อไป ก็อาจจะกระทบต่อคุณภาพการศึกษา เมื่อโรงเรียนยื่นหนังสือขอยกเลิกกิจการ สช.จะพิจารณาก่อนว่าเหตุผลที่โรงเรียนให้มานั้น เป็นจริงหรือไม่ และเมื่อโรงเรียนปิดกิจการ ผู้ปกครอง นักเรียน และครูจะได้รับผลกระทบอย่างไร อย่างไรก็ตามขณะนี้ สช.ยังไม่ได้อนุญาตให้โรงเรียนเลิกกิจการ อยู่ในขั้นตอนของกระบวนการพิจารณา

“เรื่องนี้ผมคิดว่าโรงเรียน แจ้งผู้ปกครองกระชั้นชิดเกินไป ถือเป็นความบกพร่องของโรงเรียน สช. จะรับข้อร้องเรียนที่ผู้ปกครองได้รับผลกระทบทั้ง 8 ข้อ ที่ผู้ปกครองร้องมาดูรายละเอียดว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้ปกครองอย่างไร นอกจากนี้ ก็จะเข้าไปพูดคุยกับโรงเรียน ว่า จะช่วยเหลือผู้ปกครองเพิ่มเติมได้อย่างไรบ้าง ทั้งนี้สช.​ได้รับเรื่องร้องเรียนตั้งแต่เมื่อวานแล้ว และได้โทรหาผู้ได้รับใบอนุญาตก่อตั้งโรงเรียนทันที แต่ทางผู้รับใบอนุญาตไม่สะดวกที่จะพูดคุย ดังนั้น สช.ขอให้ผ็ปกครองมั่นใจว่า สช.จะหาทางช่วยเหลือผู้ปกครองได้รับผลกระทบน้อยที่สุด”นายมณฑล กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments