เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือคัดเลือกกำลังคนอาชีวศึกษาเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยนายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร และมีเรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการ กอศ. และผู้บริหาร สอศ. และผู้บริหาร กทม. ร่วมเป็นเกียรติในพิธี
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษาอาชีวะ ซึ่งเป็นกำลังคนที่มีความรู้ ทักษะทางวิชาชีพ และคนที่มีสมรรถนะสูง เป็นคนดี มีฝีมือ มีงานทำทันทีหลังจากจบการศึกษา และได้นำความรู้ความสามารถไปพัฒนาประเทศ สอศ. จึงได้ร่วมมือกับ กทม. จัดทำโครงการการคัดเลือกกำลังคนอาชีวะเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ซึ่งเป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากสถานศึกษาสังกัด สอศ. ภาครัฐและเอกชน ระดับ ปวช. และ ปวส. ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี สถาบันอาชีวศึกษาภาคกลาง 3 ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา วิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา วิทยาลัยเทคนิคจุฬาภรณ์ (ลาดขวาง) วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีฉะเชิงเทรา วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ วิทยาลัยเทคนิคนครนายก วิทยาลัยการอาชีพนครนายก วิทยาลัยเทคนิคปราจีนบุรี วิทยาลัยเทคนิคอ่างทอง และสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคกลาง ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเพชรบุรี วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรี วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชลบุรี วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชัยนาท วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลพบุรี วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศูนย์ศิลปาชีพบางไทร วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสิงห์บุรี วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีฉะเชิงเทรา ที่สำเร็จการศึกษาระหว่างปี 2563 – 2565 เพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ 10 ตำแหน่ง ได้แก่ เจ้าพนักงานการเกษตร เจ้าพนักงานการเงินบัญชี เจ้าพนักงานธุรการ เจ้าพนักงานสื่อสาร นายช่างเครื่องกล นายช่างไฟฟ้า นายช่างเทคนิคนายช่างโยธา นายช่างสำรวจ และพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมจำนวน 559 อัตรา โดยเริ่มเปิดรับสมัครระหว่างเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2566
เลขาธิการกอศ. กล่าวต่อไปว่า ในระยะต่อไปในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 – 2569 สอศ. และกทม.จะดำเนินการวางแผนจัดการศึกษาผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวะ ให้ตรงกับความต้องการ หรือตำแหน่งงาน ที่ กทม. ขาดแคลน ในรูปแบบของการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี เพื่อรองรับผู้เรียนให้ เข้าฝึกประสบการณ์สมรรถนะวิชาชีพ และหรือการฝึกอาชีพ ซึ่งจะได้มีการหารือในรายละเอียดในลำดับต่อไป เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าทำงาน เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพที่มั่นคง ให้กับนักเรียนนักศึกษาอาชีวะในอนาคต
ด้าน นายขจิต กล่าวว่า กทม. มีนโยบายเพิ่มช่องทางการสรรหาบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญกรณีพิเศษ โดยไม่ต้องสอบแข่งขันเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลัง โดยเน้นความคล่องตัวในการดำเนินการสรรหาและเลือกสรรเพื่อให้หน่วยงานได้บรรจุบุคคลตรงตามความต้องการได้ในเวลาอันรวดเร็ว จึงมองเห็นถึงศักยภาพ สมรรถนะของกำลังคนอาชีวศึกษา จึงส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรอาชีวศึกษาได้มีโอกาสเข้ารับราชการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ และเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐในการพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของกรุงเทพมหานครต่อไป