เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) มอบหมายให้ นายยศพล เวณุโกเศศ รองเลขาธิการกอศ.เป็นประธานเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการการใช้งานระบบงานทะเบียนวัดผลนักเรียนนักศึกษาของสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาคเอกชน (PVRS) โดยมีผู้บริหารสถานศึกษาเข้าร่วมงาน ณ โรงแรมริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ
นายยศพล กล่าวว่า ระบบงานทะเบียนวัดผลนักเรียนนักศึกษาของสถานศึกษาอาชีวเอกชน (PVRS) จัดทำขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ และเพื่อพัฒนาศักยภาพการปฏิบัติงานของครูและบุคลากรของสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน ให้มีความพร้อมและมีทักษะที่จำเป็นในการปฏิบัติงานด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อมุ่งไปสู่การบริหารจัดการของการอาชีวศึกษาเอกชนประสิทธิภาพสูง ให้สามารถผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูงเพื่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อ นักเรียน นักศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู บุคลากร สามารถเข้าถึงฐานข้อมูล และนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนการเรียนการสอน วิเคราะห์แนวทางการพัฒนานักเรียน นักศึกษาต่อไปในอนาคต โดยโครงการอบรมนี้เป็น 1 ใน 6 นโยบายและจุดเน้นที่สำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 คือ การพัฒนาระบบราชการและการบริหารภาครัฐยุคดิจิทัล ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบราชการ 4.0 ด้วยนวัตกรรม การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นกลไกหลักในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ และการปรับปรุงประสิทธิภาพของเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ สอดคล้องกับนโยบายหลักในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ รวมถึงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลให้เป็นระบบเดียวกัน (Single Data) และสามารถเชื่อมโยงกันกับระบบบริหารสถานศึกษา ศธ.02 ออนไลน์
“การจัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ จัดกิจกรรมอบรมรูปแบบ onsite รุ่นที่ 1 ในวันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 สำหรับสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ และรุ่นที่ 2 ในวันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 สำหรับสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนในเขตกรุงเทพมหานคร และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ โรงแรมริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ โดยการถ่ายทอดผ่านระบบ Online โดยใช้โปรแกรม Zoom Meeting และผ่านช่องทาง YouTube มีผู้เข้ารับการอบรมรวมทั้งสิ้น จำนวน 700 คน ซึ่งเป็นผู้บริหารสถานศึกษา ครู บุคลากร ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้มีความรู้ความเข้าใจ ในการใช้งานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศดังกล่าว ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติงานในสถานศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อภาพรวมของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ ผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูงเพื่อการพัฒนาประเทศ”รองเลขาธิการ กอศ.กล่าว