เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2566 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วย ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านความร่วมมือต่างประเทศ สป. และคณะผู้แทนสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. ได้เข้าร่วม การประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 52 (สภาซีเมค) ณ โรงแรม EDSA Shangri-La กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ 2566 โดยวันแรกของการประชุมฯ เป็นการประชุมวาระเฉพาะ (In-camera Session) โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 11 ประเทศสมาชิกซีมีโอ และประเทศสมาชิกสมทบซีมีโอ ทั้งนี้ ประธานการประชุม H.E. Mr. Chan Chun Sing (ชาน ชุง ซิง) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์ ในฐานะประธานสภาซีเมค ได้ขอให้ที่ประชุมร่วมกันพิจารณาวาระการประชุมและให้การอนุมัติ
รวม 12 เรื่อง ซึ่งผ่านการรับรองจากที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของซีมีโอ ครั้งที่ 45 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 อาทิ การติดตามการดำเนินงานตามข้อมติของการประชุมสภาซีเมค ครั้งที่ 51 รายงานผลการประชุมคณะกรรมการบริหารของซีมีโอ ประจำปี 2565 ร่างข้อเสนอแผนงาน โครงการและงบประมาณ การพิจารณากฎบัตรของซีมีโอ และการสมัครเข้าเป็นหน่วยงานสมาชิกสมทบซีมีโอของ SEAOHUN (ซีโอฮุน) เป็นต้น
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ภายหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมวาระเฉพาะ ตนได้เจรจาหารือความร่วมมือทวิภาคีร่วมกับ H.E. Mr. Chan Chun Sing (ชาน ชุง ซิง) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์ โดยมุ่งส่งเสริมประเด็นความร่วมมือระหว่างประเทศที่เน้นเรื่องของการแลกเปลี่ยนนักเรียน นักศึกษา การจัดฝึกอบรมให้กับครูและผู้บริหาร ในรูปแบบของการจัดหลักสูตรฝึกอบรมตามความต้องการของครู และผู้บริหาร ทั้งนี้ ในส่วนของไทยต้องการผลักดันเรื่องของการสร้างคุณค่าและความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ ให้มีการเรียนการสอนหรือบูรณาการให้เข้ากับการเรียนรู้ในสถานศึกษามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของ Arts of Life ที่จะต้องผนวกไว้ในการเรียนการสอนด้านสะเต็มศึกษา (STEM) ให้เป็นสตีม (STEAM) ซึ่งรวมถึงความหลากหลายทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ วิถีชีวิต ถือเป็นหนึ่งในจุดแข็งของประเทศไทย
คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ตนได้เข้าร่วมการประชุมเชิงยุทธศาสตร์ระดับรัฐมนตรีศึกษาของซีมีโอ ครั้งที่6 (6th SEAMEO Strategic Dialogue of Education Ministers: SDEM) หัวข้อ “Prioritising Foundational Learning and Lifelong Learning: Investing in Literacy, Numeracy, and STEM Education in the Digital Era” โดยประธานการประชุม H.E. Ms. Sara Zimmerman Duterte-Carpio (ซาร่า ซิมเมอร์มัน ดูแตร์เต-คาร์ปิโอ) รองประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของฟิลิปปินส์ ได้ขอให้ที่ประชุมร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและสะท้อนมุมมองเชิงนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่มุ่งส่งเสริมความร่วมมือของภูมิภาคในขอบข่ายการเรียนรู้พื้นฐานและการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา ซึ่งที่ประชุมส่วนใหญ่ได้นำเสนอแนวทางปฏิบัติที่ดีของประเทศโดยเน้นเรื่องคุณภาพ และความเสมอภาคทางการศึกษาที่เริ่มตั้งแต่ระดับปฐมวัย การพัฒนาหลักสูตรและวิธีการจัดการเรียนการสอน
ที่ตอบสนองต่อความต้องการของโลกศตวรรษที่ 21 และโลกที่ท้าทายแบบพลิกผัน การจัดทำแผนและกลยุทธ์ เพื่อฟื้นฟูภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ของนักเรียน การพัฒนาทักษะดิจิทัลและการคำนวณ การเสริมสร้างสมรรถนะครูและผู้บริหาร การจัดฝึกอบรมครูด้านสะเต็มศึกษา การพัฒนาทักษะเดิมและเพิ่มเติมทักษะใหม่ การส่งเสริมการเรียนรู้พื้นฐานและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ทุกสิ่งอย่างจะขับเคลื่อนการทำงานด้วยเครื่องจักรกลและอิเล็กทรอนิกส์ จึงจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมความรู้ความเข้าใจของการทำงานด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลแบบใหม่ การยกระดับความรู้และทักษะเพื่อให้ผู้เรียนได้สามารถทดลองและเรียนรู้ด้วยตนเองจนเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ รวมถึง ในโลกแห่งการแพทย์ นักเรียนแพทย์จะสามารถลงมือปฏิบัติได้อย่างเสมือนจริง ซึ่งการทำงานด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลแบบใหม่ จะช่วยลดขั้นตอนในการบริหารจัดการลดชั่วโมงการสอนของครู และช่วยให้เจ้าหน้าที่และผู้บริหารได้ทราบข้อมูลที่เป็นปัจจุบันเกี่ยวกับจุดเน้นที่จะต้องพัฒนานักเรียน ครู และผู้บริหาร นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงความสำคัญของการเรียนรู้วิธีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการบริหารงานในองค์กร และให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงานที่เป็นระบบมากขึ้น การนำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ ทดสอบ และพิสูจน์ การเสริมสร้างทักษะความร่วมมือเชิงนวัตกรรม การมีมารยาทที่ดี ทักษะการสื่อสารระหว่างบุคคล การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน การออกแบบและยอมรับวิถีทางใหม่ การเปลี่ยนแปลงตนเองอย่างรวดเร็วเพื่อให้บรรลุผลตามความจำเป็นและความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งนี้ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เริ่มสอนเรื่อง “การเรียนโค้ดดิ้งโดยไม่ใช้คอมพิวเตอร์” ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เพื่อให้นักเรียนเข้าใจถึงลำดับการดำเนินการ ความเชื่อมโยงของเหตุและผล การใช้เหตุผล เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ทำงานร่วมกับผู้อื่น และมีความรับผิดชอบ รวมทั้งได้ผนวกอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญ
คือ “ศิลปะแห่งชีวิต” (A: Arts of Life) ในการจัดสะเต็มศึกษา (STEM) ให้เป็น STEAM โดยเชื่อว่าเด็กต้องมีความเข้าใจเรื่องประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม คุณค่า และวิธีการร่วมมือและพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้อื่น ที่ประชุม SDEM ยังได้เห็นพ้องที่จะร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือของภูมิภาคระหว่างประเทศสมาชิกซีมีโอ ประเทศสมาชิกสมทบซีมีโอ และหน่วยงานสมาชิกสมทบซีมีโอ รวมทั้งภาคีเครือข่าย ในขอบข่ายการเรียนรู้พื้นฐานและการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาในการมีส่วนร่วมของเยาวชนผ่านการกำหนดกลยุทธ์เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนระดับโลก โดยมีประเด็นสำคัญ ได้แก่
- 1. การเสริมสร้างนโยบายของภูมิภาคและโลกให้มีประสิทธิภาพ และแนวปฏิบัติด้านการเรียนรู้พื้นฐานและการเรียนรู้ตลอดชีวิต
- 2. การบูรณาการหลักการและแนวคิดการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล ด้านการรู้หนังสือและ
ด้านการคำนวณสู่รูปแบบที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ในอนาคตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- 3. การให้ความสำคัญลำดับต้นแก่ผู้เรียนกลุ่มเปราะบางด้วยการพัฒนาวิธีการแบบเรียนร่วม
โดยเชื่อมโยงสู่กลยุทธ์ที่กว้างขึ้น เพื่อปกป้องประชากรกลุ่มชายขอบ และก้าวข้ามความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา
- 4. การเสริมสร้างขีดความสามารถของครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้ก้าวทัน
การเปลี่ยนแปลงเชิงพลวัตในสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ด้านดิจิทัล
- 5. การออกแบบกลยุทธ์เชิงสนับสนุนเพื่อมุ่งเน้นการลงทุนด้านการรู้หนังสือ การคำนวณและ
สะเต็มศึกษาในยุคดิจิทัล
- 6. การเสริมสร้างความคิดริเริ่มในการติดตามและประเมินผล เพื่อให้มั่นใจในเรื่องของความคิดริเริ่มด้านการเรียนรู้พื้นฐานและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งจะสามารถนำไปดำเนินการปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพในกรอบโครงสร้างที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป็นต้น