เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี จังหวัดปทุมธานีว่าที่ร้อยธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมชี้แจงแนวทางการนำนโยบายและแนวปฏิบัติการรับนักเรียน นักศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ประจำปีการศึกษา 2566 ไปสู่การปฏิบัติ โดยมีผู้บริหารระดับสูง และผู้อำนวยการสถานศึกษาทั้งรัฐและเอกชน เข้าร่วมกว่า 1,000 คน ว่า นโยบายและแนวปฏิบัติการรับนักเรียน นักศึกษาสังกัด สอศ. ประจำปีการศึกษา 2566 มีหลักการ ดังนี้ ยกระดับคุณภาพอาชีวศึกษา ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้เรียนค้นหา หรือเลือกเรียนในสายอาชีพที่ตนเองมีความถนัดหรือสนใจ มุ่งเน้นการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีให้มากขึ้น ตลอดจนจัดการศึกษาร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย (ทวิศึกษา) ยกระดับความร่วมมือบูรณาการกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และสถานประกอบการในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมความเชื่อมั่นและเส้นทางในการมีงานทำของผู้เรียน โดยเน้นการต่อยอดหลักสูตรใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ พร้อมกับขยายโอกาส ส่งเสริมและสนับสนุนให้เยาวชนทุกคนได้รับโอกาสได้รับศึกษาระดับอย่างเสมอภาค และเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ให้สถานศึกษาภาครัฐ เน้นการผลิตและพัฒนากำลังคนในสาขาวิชาที่ขาดแคลน สาขาวิชาที่เป็นความต้องการของประเทศ และให้สถานศึกษาภาคเอกชน เน้นการผลิตและพัฒนากำลังคนตามศักยภาพและความพร้อม
เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวปฏิบัติการรับนักเรียน นักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) นั้น ให้อาชีวศึกษาจังหวัด (อศจ.) จัดประชุมทุกสถานศึกษาในจังหวัดทั้งรัฐและเอกชน เพื่อร่วมกำหนดเป้าหมายการรับนักเรียน นักศึกษา ปีการศึกษา 2566 ให้สอดคล้องตามนโยบายและแนวปฏิบัติการรับนักเรียน นักศึกษา ของ สอศ. และให้สถานศึกษาดำเนินการรับนักเรียน นักศึกษาให้สอดคล้องกับบทบาทภารกิจหลักของแต่ละประเภทสถานศึกษา โดยเป็นไปตามความถนัดและความเชี่ยวชาญ ดังนี้
1.กลุ่มวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี เน้นการจัดการเรียนการสอนในประเภทวิชาเกษตรกรรมและประมงที่มีความทันสมัย ตอบโจทย์เกษตรอัจฉริยะ เกษตรสมัยใหม่สอดคล้องตามความต้องการของพื้นที่และประเทศ ทั้งนี้สามารถเปิดรับนักเรียนระดับปวช. และ ปวส. นอกประเภทวิชาเกษตรและประมงได้ตามศักยภาพและความพร้อม
2.กลุ่มวิทยาลัยสารพัดช่าง เน้นการจัดการเรียนการสอนในประเภทวิชาที่สอดคล้องตามความต้องการของพื้นที่และประเทศ
3.กลุ่มวิทยาลัยเทคนิค เน้นการจัดการเรียนการสอนในประเภทวิชาอุตสาหกรรม ให้สอดคล้องตามความต้องการของพื้นที่และประเทศ
4.กลุ่มวิทยาลัยอาชีวศึกษา เน้นการจัดการเรียนการสอนในประเภทวิชาพาณิชยกรรม/บริหารธุรกิจ คหกรรม ศิลปกรรม และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้สอดคล้องตามความต้องการของพื้นที่และประเทศ
5.กลุ่มวิทยาลัยประเภทอื่นๆ ให้จัดการเรียนการสอนตามบทบาทภารกิจหลักของแต่ละประเภทสถานศึกษา ให้สอดคล้องตามความต้องการของพื้นที่และประเทศ
“ส่วนปฏิทินการรับนักเรียน นักศึกษา ปีการศึกษา 2566 มีดังนี้ รายงานแผนการรับนักเรียน นักศึกษา มาที่ สอศ. 1 มีนาคม สถานศึกษาเปิดรับสมัคร 11-15 มีนาคมทดสอบความรู้ 26 มีนาคม ประกาศผล 30 มีนาคม และมอบตัว 2 เมษายน ที่ผ่านมาผมเน้นย้ำให้สถานศึกษาขับเคลื่อน 9 นโยบายเร่งด่วนและ 5 นโยบายหลัก โดยเฉพาะการส่งเสริมการเรียนการสอนระบบทวิภาคีแนวใหม่ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการอาชีวศึกษา โดยเพิ่มจำนวนผู้เรียนให้ได้ถึงประมาณ 511,177 คน ในปีการศึกษา 2568 หรือคิดเป็น 50% ของนักเรียนทั้งหมด แต่ขณะนี้ สอศ.มีผู้เรียนในระบบทวิภาคีประมาณ 150,000 คนเท่านั้น ดังนั้น ซึ่งในปีการศึกษา 2566 นี้ สอศ. มีเป้าหมายเพิ่มผู้เรียนในระบบทวิภาคี ให้ได้10% จากฐานเดิมที่มีผู้เรียนทั้งหมด 1.2 ล้านคน หรือเพิ่มประมาณ 100,000 คน ดังนั้นจะต้องเพิ่มจากเดิมที่มีประมาณ 150,000 คน เป็น250,000 คน ให้ได้ ส่วนการเพิ่มผู้เรียนอาชีวะภาพรวม ปีการศึกษา 2566 สอศ.ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่ม 10% เช่นกัน คือ จาก 1.2 ล้านคน เป็น 1.3 ล้านคน” ว่าที่ร้อยตรีธนุกล่าว