เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2566 ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ได้มอบหมายให้เป็นประธานในพิธีเปิดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับชาติ ครั้งที่ 70 ภาคกลางและภาคตะวันออก (การศึกษาพิเศษ) ณ อาคารโดม โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 45 จังหวัดกาญจนบุรี โดยมี ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ(สศศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)  ผู้เชี่ยวชาญ จาก สพฐ. คณะผู้บริหาร ครู และนักเรียน จากโรงเรียนเฉพาะความพิการ ศูนย์การศึกษาพิเศษ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ โรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์ และโรงเรียนเอกชนในภาคกลางและภาคตะวันออก รวมถึงส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรม

รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า การจัดงานครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนที่ได้รับการพัฒนาฟื้นฟูศักยภาพผ่านกระบวนการบูรณาการความรู้ด้าน Head Hand Heart และ Health ได้แสดงออกถึงความสามารถในด้านศิลปหัตถกรรม วิชาการ และเทคโนโลยีของนักเรียน ซึ่งเวทีการแข่งขันในครั้งนี้ไม่เน้นที่การแพ้ ชนะ แต่เป็นการพัฒนา ทั้งทักษะด้านวิชาการ ทักษะอาชีพ และทักษะชีวิต ซึ่งเป็นจุดเน้นตามนโยบายของ สพฐ.ที่ต้องนำลงสู่ผู้เรียนทุกคน โดยภายในงานมีการแสดงของนักเรียนจากโรงเรียนในสังกัด สศศ. เช่น “การศึกษาพิเศษไทย หัวใจนำทาง I have a future” โดย รร.โสตศึกษาจังหวัดนครปฐม การแสดงกลองสะบัดชัย โดย รร.เพชรบุรีปัญญานุกูล จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการแข่งขันต่าง ๆ เช่น การอ่านทำนองเสนาะ ประเภทบกพร่องทางการเห็น  การจัดดอกไม้สด ทุกประเภทความบกพร่อง  การวาดภาพระบายสีชอล์ค ประเภทบกพร่องทางร่างกาย  การวาดภาพลายเส้น ประเภทบกพร่องทางร่างกาย  การปั้นดินน้ำมัน ฉีกตัดปะ ประเภทปฐมวัย และ  web page ประเภทบกพร่องทางร่างกาย

“ต้องขอชื่นชมและขอบคุณ สศศ.ที่เห็นถึงความสำคัญของการจัดการศึกษา รวมทั้งเป็นการสร้างสัมพันธภาพและเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาในภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งเป็นเครือข่ายการพัฒนาด้านการศึกษา ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนในทุก ๆ ด้านได้อย่างดี ด้วยการเพิ่มพูนและพัฒนาองค์ความรู้ด้านทักษะวิชาการ ทักษะอาชีพ และทักษะชีวิตให้แก่นักเรียน ที่สำคัญเวทีการแข่งขันที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นการแข่งขัน แต่เป็นการให้โอกาสนักเรียนได้แสดงออกถึงทักษะความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ จากกิจกรรมมีความหลากหลาย แบ่งตามความบกพร่องด้านต่างๆ ของนักเรียนอย่างชัดเจน เช่น การแข่งขันวาดภาพ แบ่งการแข่งขันเป็น บกพร่องทางร่างกาย บกพร่องทางการได้ยิน และบกพร่องทางสติปัญญา นักเรียนจับสลากเพื่อวาดภาพ 1 หัวข้อ จากหัวข้อต่างๆดังนี้ เรารักในหลวงรัชกาลที่ 9 เศรษฐกิจพอเพียง ศาสตร์แห่งพระราชาสู่การพัฒนาอย่างยังยืน และประเทศไทยในอนาคต ซึ่งทำให้นักเรียนได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ของตนเองตามหัวข้อที่ได้รับ”ดร.เกศทิพย์กล่าวและว่า ต้องขอขอบคุณ ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ที่เสียสละ ทุ่มเท ร่วมมือร่วมใจกันและสัมพันธภาพที่มีระหว่างกัน ทำให้เกิดการทำงานอย่างมีความสุข ส่งผลให้นักเรียนได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมที่ดีและมีประโยชน์นี้

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments