เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมการตรวจราชการของผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้สนับสนุนการตรวจราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดย ดร.อรรถพล เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า นโยบายและจุดเน้นการตรวจราชการของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ 2566 มี 6 ด้าน ได้แก่ 1.การจัดการศึกษาเพื่อความปลอดภัย สร้างความปลอดภัยในสถานศึกษาและป้องกันภัยคุกคามในชีวิตรูปแบบใหม่ 2.การยกระดับคุณภาพการศึกษา ส่งเสริมสนับสนุนให้สถานศึกษานำหลักสูตรฐานสมรรถนะไปสู่การปฏิบัติ พัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างความฉลาดรู้ด้านการอ่านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) 3.การสร้างโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษาทุกช่วงวัย เพิ่มและกระจายโอกาสทางการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงโอกาสทางการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตได้อย่างหลากหลาย ครอบคลุมทุกพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย 4. การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาหลักสูตรอาชีพสำหรับประชาชน กลุ่มเป้าหมายผู้อยู่นอกระบบโรงเรียน 5. การส่งเสริมสนับสนุนวิชาชีพครูฯ ยกระดับสมรรถนะในการปฏิบัติงานของข้าราชการครูฯ และ6.การพัฒนาระบบราชการและการบริหารภาครัฐยุคดิจิทัล ให้ไปสู่ระบบฯ 4.0 รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานการประเมินคุณธรรม และความโปร่งใสของสป.ศธ.
ปลัด ศธ. กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากในปี 2566 ประเทศไทยจะมีค่าเฉลี่ยผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น12% (เทียบเคียงจากเกาหลีใต้และญี่ปุ่นที่มีเพียง 7%) และในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 28% ถือเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด ขณะที่กลุ่มผู้ว่างงานและอยู่นอกระบบการศึกษา (Non Education Employer Development : NEED) มีมากถึง 1.3 ล้านคนหากปล่อยทุกอย่างเป็นไปตามภาวะปกติ ในทศวรรษหน้าประเทศไทยจะเผชิญปัญหาหนัก แต่ตอนนี้เรามีช่องทางที่สามารถเข้าไปพัฒนาได้ คือ การเตรียมพัฒนากำลังคนให้ทำงานได้เต็มตามศักยภาพ ซึ่งต้องใช้เวลาและเตรียมการตั้งแต่วัยเด็ก ดังนั้นผู้ตรวจราชการ ศธ. จึงเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญ ที่จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมพัฒนากำลังคนอย่างเต็มกำลังเพื่อให้ประเทศก้าวผ่านวิกฤตินี้ ซึ่งศธ.ได้วางแนวทางระยะสั้นในการขับเคลื่อนที่สำคัญ คือ จะเปิดรับสมัครอาสาสมัครกระทรวงศึกษาธิการ (อสส.ศธ.) ซึ่งเป็นผู้เกษียณอายุ มีจิตอาสารวมทั้งต้องมีความรู้ความสามารถในวิชาชีพต่าง ๆ ผ่านระบบออนไลน์ โดย อส.ศธ.ซึ่งกระจายทุกพื้นที่ทั่วประเทศจะเป็นบุคลากรสำคัญในการดำเนินการร่วมกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการช่วยพัฒนากำลังคนทุกกลุ่มวัยในระดับพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อเตรียมคนในอนาคต รวมทั้งกลุ่มผู้สูงวัยด้วย เช่น เป็นครูอาสาสมัครจิตอาสา เพื่อเข้ามาช่วยงานการศึกษา มุ่งเน้นการอ่านออกเขียนได้ของเด็กในชุมชน ป้องกันเด็กออกจากระบบการศึกษากลางคัน แก้ไขเสริมสร้างภาวะความรู้ถดถอยในการเรียนรู้ พร้อมเก็บเป็นฐานข้อมูลการเข้าสู่ระบบการศึกษาต่อไป
ด้าน ดร.วรัท พฤกษาทวีกุล หัวหน้าผู้ตรวจราชการ ศธ. กล่าวว่า ตนได้รายงานผลการตรวจราชการและติดตามประเมินผลการจัดการศึกษาของ ศธ. ประจำปีงบประมาณ2565 ใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.การพัฒนาครูและการจัดการเรียนการสอน ด้วยการมุ่งเน้นให้ผู้เรียนทุกระดับมีส่วนร่วมสร้างสรรค์การเรียนรู้ (Active Learning) อีกทั้งจัดให้มีการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง รวมทั้งยกระดับพัฒนาคุณภาพครูให้มีสมรรถนะทางภาษาและดิจิทัล และให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้เรียนสร้างสถานศึกษาให้มีความปลอดภัย ด้วยระบบและศูนย์ MOE Safety Center 2.การสร้างโอกาสความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันทางสังคม ด้วยการค้นหาเด็กวัยเรียนหลุดจากระบบการศึกษา ผ่านโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” ภายใต้แนวคิด“นำกลับ ค้นหา พัฒนา ส่งต่อ” พร้อมสร้างโอกาสและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับคนพิการและผู้ด้อยโอกาส 3.ความร่วมมือจัดการศึกษาแบบทวิภาคีสู่คุณภาพมาตรฐาน และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัย จัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย สร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาทักษะอาชีพให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ และ 4.ผู้เรียนและบุคลากรทางการศึกษาสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยมาใช้ในการเรียนการสอนได้
ทั้งนี้ ผู้ตรวจราชการ ศธ. จะติดตามขับเคลื่อนการทำงานของส่วนราชการตามนโยบายและจุดเน้นดังกล่าว รวมทั้งการเตรียมพัฒนากำลังคนอย่างเต็มกำลัง รวมทั้งกลุ่มผู้สูงวัย