เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 ที่ ห้องประชุมคมสันวิทยาคาร วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี นางสาวตรีนุช เทียนทองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน ONE-EV (Open Network of Education for Electric Vehicle) และมอบนโยบายการขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ด้านยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีนายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวต้อนรับ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดาเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.)กล่าวรายงาน นายวิทยา คุณปลื้ม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้า สถานประกอบการ จำนวน28 แห่ง ผู้บริหารสถานศึกษาและครู จากสถานศึกษาที่เปิดสอน สาชาวิชายานยนต์ไฟฟ้า 51 แห่ง และนักเรียน นักศึกษา วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี จำนวน 2,100 คน และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 420 คน ร่วมงาน
น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า จากที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับนโยบาย ZERO Emission โดยมีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยมุ่งสู่พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเร่งเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่สังคมรถยนต์ไฟฟ้า รัฐบาลจึงได้สนับสนุน ส่งเสริมให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์สันดาปและหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสะอาด ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ มีการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมน้อยมาก และยังได้รับการตอบรับจากภาคประชาชนในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการกำลังคนด้านงานซ่อมบำรุงรถยนต์ไฟฟ้ามีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย การผลิตกำลังคนเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยจึงมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)ในฐานะเป็นผู้ผลิตและพัฒนากำลังคน ถือว่าเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนกำลังแรงงานดังกล่าวโดยได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากสถานประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญ ภายใต้คณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ.) กลุ่มอาชีพยานยนต์ไฟฟ้า ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตกำลังคนอาชีวศึกษา พร้อมยกระดับอาชีวศึกษาให้มีสมรรถนะสูง ผลิตคนให้ตรงตามความต้องการของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมยายนต์ไฟฟ้า ด้วยกลไกความร่วมมือ อีกทั้งขับเคลื่อนขยายไปสู่การเรียนการสอนในระบบทวิภาคีให้เกิดคุณภาพสูง และต้องพัฒนาทักษะ Up Skill และ Re Skill ให้กับประชาชน สังคม และร่วมกันผลักดันความร่วมมือกับทุกภาคส่วนให้นโยบาย “ZERO Emission” บรรลุสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จ และรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง
ด้านว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า สอศ.ได้รับนโยบายรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงาน จากเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 สอศ. ได้ทำความร่วมมือกับสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าและสถานประกอบการ (EV OVEC ZERO Emission) นับเป็นการเริ่มเฟสแรก และในครั้งนี้ สอศ. ได้ต่อยอดความร่วมมือและขยายผลด้านยานยนต์ไฟฟ้า ระหว่าง สอศ.กับสถานประกอบการ ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า จำนวน 13 แห่ง ภายใต้คณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ.) กลุ่มอาชีพยานยนต์ไฟฟ้า โดยนำร่อง ณ วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่มีความเข้มแข็งและเป็นต้นแบบในการจัดการเรียนการสอนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยความร่วมมือครั้งนี้เป็นการตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนการสอนทวิภาคีคุณภาพสูงและมีสมรรถนะวิชาชีพที่ทันต่อเทคโนโลยี ให้เป็นไปกับความต้องการของสถานประกอบการ เชื่อมโยงมาตรฐานอาชีพและมาตรฐานการปฏิบัติงาน ร่วมกับการพัฒนาครู และครูฝึกในสถานประกอบการ สอศ. พร้อมแสวงหาความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายในการสนับสนุนและร่วมกันสร้างผู้เรียนอาชีวศึกษาไทยไปสู่มาตรฐานประเทศและมาตรฐานสากล พร้อมเป็นกำลังในการขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้าไปอย่างเข้มแข็งต่อไป
งาน ONE-EV (Open Network of Education for Electric Vehicle) จัดให้มีการสัมมนา “การทำยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง EV-Conversion” การแสดงนิทรรศการด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าจากบริษัทชั้นนำและการแข่งขัน STEAM EV YOUNG CHALLENGE จากผลงานนักเรียน นักศึกษา สำหรับผู้ที่สนใจเรียนหลักสูตรสาขาวิชายานยนต์ไฟฟ้า สามารถติดต่อได้ที่วิทยาลัยเทคนิคชลบุรีหรือhttp://www.chontech.ac.th