เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ประกาศสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 9-15 มกราคม 2566 และได้ปิดรับสมัครเรียบร้อยแล้ว นั้น เบื้องต้นตนได้รับรายงานว่า มีผู้สมัครประมาณ 2,796 ราย รับได้ 123 อัตรา ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบข้อเขียนภาค ก วิชาความรู้เกี่ยวกับการบริหารงานในหน้าที่ และวิชาความสามารถในการวิเคราะห์กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานและนำไปใช้ ที่ใช้บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน วันที่ 29 มกราคม 2566 สอบภาค ก วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566 ประกาศรายชื่อ ผู้ผ่านการประเมินภาค ก ที่ได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 เพื่อเข้ารับการประเมินภาค ข และภาค ค วิสัยทัศน์และแนวทางการพัฒนาเขตพื้นที่การศึกษา ภายในวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 โดยคาดว่าจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกได้ภายในปลายเดือนกุมภาพันธ์
“ผมได้กำชับให้การจัดสอบเป็นไปด้วยความโปร่งใส โดยภายหลังจากคัดเลือกรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ เรียบร้อยแล้ว คิดว่า แต่ละพื้นที่จะมีคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา ครบองค์ประชุม จากนั้นสพฐ.จะดำเนินการคัดเลือก ผู้อำนวยการโรงเรียน แทนตำแหน่งที่ว่าง เพราะบางโรงเรียน ผู้อำนวยการ ร.ร.ก็สอบเลื่อนขึ้นมาเป็นรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ และคัดเลือกรองผู้อำนวยการโรงเรียนและครูผู้ช่วยตามลำดับ” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ดร.อัมพร กล่าวต่อไปว่า ส่วนความคืบหน้า การรับสมัครนักเรียนสังกัด สพฐ. ซึ่งจะเปิดรับสมัคร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ วันที่ 11-15 มีนาคม สอบวันที่ 25 มีนาคม และม.4 สมัคร วันที่ 11-15 มีนาคม สอบวันที่ 26 มีนาคม โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภูมิภาค สมัคร วันที่ 14-18 กุมภาพันธ์ สอบ วันที่ 4 มีนาคม ประกาศผล ภายในวันที่ 10 มีนาคม รายงานตัว ภายในวันที่ 13 มีนาคม มอบตัว ภายในวันที่ 22 มีนาคม นั้น ตนได้กำชับให้โรงเรียน เตรียมความพร้อมและดำเนินการตาม ประกาศเรื่องนโยบายและแนวปฎิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัด สพฐ.ปีการศึกษา 2566 อย่างเคร่งครัด และห้ามมีการเรียกรับเงิน เพื่อแลกที่นั่งเรียนหรือแป๊ะเจี๊ยะอย่างเด็ดขาด ส่วนการแบ่งสัดส่วนผู้เรียนสามัญ กับผู้เรียนสายอาชีพ นั้น สพฐ. จะไม่ไปบังคับเด็ก โดยจะเปิดโอกาสให้นักเรียนเลือกเรียนตามความถนัดทั้งสายสามัญและสายอาชีพ แต่หากพบว่า เด็กมีความสนใจเรียนสายอาชีพมากกว่า ก็พร้อมที่จะส่งเสริมให้เด็กได้เรียนตามสมรรถนะที่เหมาะสมต่อไป