วันนี้(2 พ.ย.) จากการประชุมการขับเคลื่อนการบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค(ภาคใต้) จังหวัดสตูล ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ประชุมการขับเคลื่อนการบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค ของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ที่มี พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธาน ครั้งนี้ เป็นครั้งที่5 ซึ่งจากการรับฟังรายงานการระดมความคิดเห็น ทำให้เกิดความมั่นใจว่า แผนบูรณาการต่าง ๆ ที่ดำเนินการมาสามารถสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่12 ที่กำหนดให้การพัฒนาภาคใต้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก และเป็นพื้นที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจของภาคใต้สู่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่อไปได้
ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า จากการแบ่งกลุ่มย่อย 3 กลุ่ม ซึ่งกลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่พิจารณาเรื่องแผนบูรณาการที่จัดทำไปแล้วในปีที่ผ่านมา เพื่อทำแผนของบประมาณของปีหน้า ส่วนกลุ่มที่สอง เป็นการพิจารณาว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาเราได้มีการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม เพื่อตอบสนองการนำประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 ศธ. จึงคิดที่จะเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาให้มากขึ้น ซึ่งสิ่งหนึ่งที่จะสร้างความมั่นใจให้ผู้ปกครองได้คือ การเชื่อมโยงหลักสูตรการศึกษาทุกระดับตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา และกลุ่มที่สาม การกำหนดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาใน 6 ภาค ซึ่งจังหวัดสตูลเป็นจังหวัดหนึ่งที่ได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่นวัตกรรมนำร่องในภาคใต้ โดยในการประชุมกลุ่มย่อยได้ช่วยกันคิดว่าจะดำเนินอย่างไรได้บ้างเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางพ.ร.บ.นวัตกรรมการศึกษา ที่จะมาปลดล็อค ให้การดำเนินการในพื้นที่นวัตกรรมมีความเป็นอิสระ ปลดข้อจำกัดต่าง ๆ ครูในพื้นที่สามารถเรียนรู้อย่างเป็นอิสระ ไม่ยึดติดหลักสูตรแกนกลางที่มาจากส่วนกลาง โดยจะใช้กลไกประชารัฐเข้ามาช่วยให้มากขึ้น
ดร .อำนาจ วิชยานุวัติ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ในการประชุมแต่ละภาคจะมีการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อหารือระดมความคิดเห็น สร้างการรับรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นการระดมความคิดเห็นแนวทาง หรือทิศทางการขับเคลื่อนและพัฒนาแผนงานโครงการ เพื่อจัดทำแผนงาน โครงการด้านการศึกษาของภาค ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ เป้าหมายและแนวทางการพัฒนาแต่ละภาค กลุ่มที่ 2 เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จัดเวทีประชาคม เพื่อการจัดทำรูปแบบการและแนวทางพัฒนาหลักสูตรให้มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และ อุดมศึกษา เป็นหลักสูตรที่มีความเชื่อมโยงการศึกษาทุกระดับและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และ กลุ่มที่ 3 การสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และหารูปแบบและสร้างพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อขยายผลไปสู่โรงเรียนให้เต็มพื้นที่ต่อไป