เมื่อเวลา 16.00 น.วันที่ 11 มกราคม 2566 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดีมจพ. แถลงข่าวกรณี ที่ถูกหมิ่นประมาทในสื่อสังคมออนไลน์ โดย รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ ผ่านทางเฟซบุ๊ก ชื่อ weerachai phutdhawong เรื่องข้อเท็จจริงในการทำวิจัยเกี่ยวกับผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ทั้งในและต่างประเทศ ว่า ตนเรียนปริญญาตรี โท และเอก ที่ประเทศเยอรมันนีมา 17 ปี และสหรัฐอเมริกา มากกว่า 2 ปี ซึ่งตลอดเวลาที่เรียนตนทำงานวิจัยมาตลอดและถ้าตรวจสอบจากฐานข้อมูลจะเห็นว่า ตนมีผลงานวิจัยตั้งแต่เป็นนักศึกษาปริญญาเอก ที่เยอรมัน ตีพิมพ์จำนวน 18 เรื่อง และในช่วงที่มาทำงานที่มจพ. ตั้งแต่ปี 2552 ก็มีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในฐานข้อมูล ฐานข้อมูล Scopus เป็นฐานข้อมูลระดับนานาชาติ อย่างต่อเนื่อง ปีละหลายเรื่อง ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ และปัจจุบันชื่อของตนก็อยู่ในอันดับต้น ๆ ของผู้ที่มีชื่อได้รับการอ้างอิงผลงานวิจัย วัสดุศาสตร์ ในระดับโลก
“การที่ผมมีงานวิจัยจำนวนมาก ต้องย้อนกลับไปดูเบื้องหลัง และประสบการณ์ รวมถึงวุฒิการศึกษา ซึ่งผมมีเครือข่ายงานวิจัยเข้ามาช่วย ทั้งนักศึกษา ระดับปริญญาเอกจากต่างประเทศมากกว่า 20 คน และนักวิจัยภายหลังปริญญาเอก หรือPost doctoral มากกว่า 10 คน เพราะคน ๆ เดียวไม่สามารถทำงานวิจัยได้แน่นอน โดยเฉพาะสาขาด้านวัสดุศาสตร์ ซึ่งเน้นเรื่องการทดลองหลากหลาย และนักศึกษากว่า 80%ที่ผมดูแลเป็นนักศึกษาต่างชาติ ซึ่งคนเหล่านี้ที่จบออกไปก็ไปสร้างผลงานใหม่ๆ หลายคนจบออกไปเป็นศาสตราจารย์ และไปเรียนต่อในระดับที่สูงขั้นในประเทศต่าง ๆ”ศ.ดร.สุชาติ กล่าว
อธิการบดี มจพ. กล่าวต่อไปว่า ดังนั้นแสดงให้เห็นว่า งานวิจัยที่เกิดขึ้นอย่างแรกมาจากการมีเครือข่าย และผลงานของตนจริง ๆ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ และจะเห็นว่า งานวิจัยของตนที่เกิดขึ้นจำนวนมาก ไม่มีงานวิจัยข้ามศาสตร์เลย สามารถตรวจสอบได้ อีกทั้ง ตนยังไม่เคยนำผลงานวิจัยมาขอเบิกค่าตอบแทนจากทางมหาวิทยาลัย ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องไปซื้องานวิจัย ส่วนตัวได้ศาสตราจารย์มาตั้งแต่ปี 2558ประสบความสำเร็จทั้งในประเทศเยอรมันและประเทศไทย ตนเป็นผู้บริหาร มจพ. สิ่งหนึ่งที่ได้มอบนโยบาย คือ แม้จะเป็นผู้บริหาร ก็ไม่สามารถทิ้งงานวิจัยได้ ต้องเป็นตัวอย่างให้กับอาจารย์ จะอ้างว่าไม่มีเวลา ไม่มีศักยภาพในการขอทุนไม่ได้ การทำงานในลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกในต่างประเทศ แต่กลับแปลกในประเทศไทย
“ขอยืนยันว่าผลงานวิจัยของผม เป็นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยทางด้านวัสดุศาสตร์ ซึ่งถือเป็นความเชี่ยวชาญในการทำงานวิจัยของผม ทั้งหมดนี้ไม่ตรงกับข้อกล่าวอ้างของอาจารย์รายหนึ่งที่ต้องการให้สังคมพุ่งเป้ามาที่ผม เพราะผมเองมีงานวิจัยค่อนข้างมาก ซึ่งผมเองและทางกลุ่มวิจัยก็รู้สึกภูมิใจ และตั้งเป้าจะทำงานวิจัยเพิ่มขึ้นอีก และไม่ได้มีแค่ผลงานที่เป็นวิชาการเท่านั้น ยังมีผลงานที่ได้รับการจดสิทธิ์บัตร แต่งตำรา ร่วมกับนักวิชาการในต่างประเทศจำนวนมาก ทั้งหมดนี้เป็นหลักการที่มหาวิทยาลัยในต่างประเทศควรทำ เพื่อให้ผู้อื่นได้อ่าน และได้ทำการตรวจสอบในวงการวิชาการ ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในสายวิชาการ”อธิการบดีมจพ. กล่าวและว่า แต่ละปีตนมีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์การมากขึ้นต่อเนื่อง เฉพาะปี 2565 มีกว่า 140 ผลงาน เพราะตนมีเครือข่ายหรือลูกศิษย์มาเป็นทีมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่มีการอ้างอิงกว่า 4,000 หน้า แม้บางผลงานตนไม่ได้มีชื่ออยู่ในลำดับแรก ๆ เพราะเป็นที่ปรึกษา ก็อาจจะมีชื่ออยู่ในลำดับที่ 8 หรือ 9 แต่การสร้างเครือข่ายงานวิจัยเป็นสิ่งที่ดี ทำให้เกิดงานวิจัยในเชิงลึกเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่ควรต้องส่งเสริม ส่วนสาเหตุที่ถูกโยง อาจเพราะตนมีผลงานวิจัยจำนวนมาก ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะอาจารย์หลายมหาวิทยาลัยก็ทำงานคล้ายตน ยืนยันไม่มีเคยมีความขัดแย้งกับผู้ที่ทำให้เสียหาย ส่วนจะดำเนินคดีกับผู้ที่ทำให้เสียหายหรือไม่ มอบให้ฝ่ายกฎหมายไปตรวจสอบ เพราะส่วนหนึ่งมีการระบุชื่อตนโดยตรง ทำให้สังคมพุ่งเป้ามาที่ตน และที่กังวลคือ อาจทำให้งานวิจัยในประเทศไทยไม่เติบโต นักวิจัยขาดขวัญกำลังใจ ในการทำผลงาน กระทบกับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก ในส่วนของ มจพ. มีการตรวจสอบผลงานวิจัย ต่างๆ อย่างเข้มข้นอยู่แล้ว โดยเฉพาะงานวิจัยที่ซ้ำซ้อน มีผู้ทรงคุณวุฒิที่น่าเชื่อถือเข้ามาช่วย ส่วนของตนเอง ไม่ได้ใช้ผลงานวิชาการมาขอค่าตอบแทน หรือแม้แต่ตำแหน่งทางวิชาการ ที่ได้มาก็ไม่เคยรับค่าตอบแทน เพราะมีการขอทุนวิจัยต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ