หลังจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ….ที่มี ดร.ตวง อันทไชย สมาชิกวุฒิสภา เป็นประธาน ได้พิจารณาทบทวน ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ในมาตรา 3 โดยให้กลับไปใช้ร่างเดิมของรัฐบาล คือ ให้ยกเลิก (1) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542(2) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 (3) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553 (4) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 (5) พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับสภาการศึกษา คณะกรรมการสภาการศึกษา สำนักงาน เลขาธิการสภาการศึกษา และเลขาธิการสภาการศึกษา บรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่ได้บัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือที่ขัด หรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน นั้น
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เมื่อไม่มีการยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 5 ฉบับ เท่ากับว่า ศึกษาธิการจังหวัด ศึกษาธิการภาค ก็ยังมีอยู่ แต่เนื่องจากเรื่องการบริหารงานบุคคลในภูมิภาคจะต้องโอนไปให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตาม พ.ร.บ.แก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ตนจึงแต่งตั้ง ดร.พิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานคณะทำงาน เพื่อเชิญศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด มาพูดคุยเรื่องระบบโครงสร้าง การทำงาน และภารกิจ ของศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัดให้ชัดเจน โดยเฉพาะศึกษาธิการภาคที่ภารกิจยังไม่ชัดเจนจนถูกมองว่าไม่จำเป็น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกำหนดกรอบหน้าที่และภาระงานให้ชัดเจน
“ผมแต่งตั้งคณะทำงานเมื่อวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งคณะทำงานมีเวลา 30 วันในการดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพื่อเสนอให้รมว.ศึกษาธิการพิจารณา ซึ่งถ้า รมว.ศึกษาธิการ เห็นความชัดเจนและความจำเป็นก็จะพิจารณาแต่งตั้งศึกษาธิการภาคให้ครบตามจำนวน 12 ภาคต่อไป อย่างไรก็ตามในระหว่างที่คณะทำงานกำหนดกรอบภารกิจของศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด นั้น เราจะต้องวางตัวศึกษาธิการจังหวัดให้เหมาะสมกับพื้นที่ด้วย เพราะบางคนภูมิลำเนาอยู่ทางภาคอีสานแต่ต้องไปอยู่ทางภาคเหนือ ทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ขณะที่บางคนก็ไม่เหมาะสมกับพื้นที่เลย อย่างไรก็ตามการโยกย้ายศึกษาธิการจังหวัดจะพิจารณาตามความเหมาะสมโดยเปิดให้แจ้งความประสงค์ขอย้าย ไม่บังคับ”ปลัด ศธ.กล่าวและว่า ส่วนการขอแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…. ฉบับที่ผ่านการพิจารณาของ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ในมาตรา ที่ยังเป็นปัญหา เช่น มาตรา 8 เป้าหมายของการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนมีสมรรถนะตามช่วงวัย 7 ช่วงวัย ในทางปฏิบัติจะมีข้อกังวลในหรือไม่ มาตรา 13 การจัดการศึกษาโดยครอบครัว ให้สามารถดำเนินการได้ เพียงแจ้งกระทรวงศึกษาธิการทราบ จะส่งผลกระทบในการปฏิบัติหรือไม่อย่างไร หรือ มาตรา 41 ที่ไม่ได้ระบุเรื่องวิทยฐานะของบุคลากรทางการศึกษาอื่น จะเกิดปัญหาในทางปฏิบัติหรือไม่อย่างไร เป็นต้น นั้น เรื่องนี้ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แจ้งมาแล้วว่าให้ไปชี้แจงในขั้นกรรมาธิการวิสามัญฯได้เลย