เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์นักศึกษากลุ่มหนึ่ง ก่อเหตุความรุนแรงขึ้นภายนอกสถานศึกษา ตามถนนและแหล่งมั่วสุมต่างๆ นั้น จากการตรวจสอบพบว่า ผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่เป็น นักศึกษา ที่พ้นสภาพนักศึกษาไปแล้วแต่ยังแอบอ้างว่าเป็นนักศึกษาอยู่ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ปัญหานี้ ตนได้มอบหมายให้ว่าที่ร้อยตรี ดร.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) แก้ปัญหาเร่งด่วน โดยยึดหลัก 3 ป คือ ป้องกัน ปลูกฝังและปราบปราม เพื่อแก้ปัญหานักเรียนนักศึกษาทะเลาะวิวาทที่ต้นตอตรงจุด
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) และวิทยาลัยอาชีวศึกษาทุกแห่งได้มีการป้องกัน และปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ระเบียบ วินัยอย่างเข้มข้น เหตุความรุนแรงจึงไม่เกิดในวิทยาลัย แต่ไปเกิดเหตุบนท้องถนน ระหว่างการเดินทาง ซึ่งในเรื่องนี้ทางกระทรวงศึกษาธิการจะเพิ่มมาตรการป้องกันและปรามปราบร่วมกับหน่วยงานอื่น เช่น ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และศาล โดยตนได้สั่งการให้ สอศ.แจ้งให้ทุกวิทยาลัยสำรวจรายชื่อนักเรียน นักศึกษา ทำบัญชีกลุ่มเสี่ยง ที่เคยก่อเหตุ และหรือมีแนวโน้มจะก่อเหตุหรือมีพฤติกรรมรุนแรงทุกสถานศึกษาส่งรายชื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามพฤติกรรม หากกระทำผิดให้ดำเนินการตามระเบียบกฎหมายทันที รวมทั้งจะนำมาตรการทางกฎหมายมาบังคับใช้กับผู้ปกครองที่ปล่อยปละละเลยให้เด็กไปก่อเหตุดังกล่าวจะต้องรับผิดชอบตาม พรบ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546และคำสั่ง คสช.ที่ 30/2559 เรื่องมาตรการในการป้องกันการทะเลาะวิวาทของนักเรียน นักศึกษาอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมากลุ่มเหล่านี้กระทำผิดซ้ำบ่อย หากสถานศึกษาพบว่ามีกลุ่มรุ่นพี่หรือบุคคลภายนอกที่มีอิทธิพล มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเข้ามาชักจูง พาทำกิจกรรมที่ สอศ.หรือสถานศึกษาห้าม หรือมีการปลูกฝังความคิดในทางที่ผิด หรือพยายามเข้ามาก่อกวนชักนำรุ่นน้องไปในทางที่ผิด ให้สถานศึกษาส่งชื่อให้ตำรวจช่วยติดตามปรับทัศนคติหรือดำเนินตามกฎหมายทันที
“ดิฉันได้รับรายงานว่ามีโซเชียล เว็บไซต์ เพจ ได้ลงภาพ คลิป ข้อความที่เป็นการสื่อไปในทางท้าทาย ยุยง ยั่วยุ ปลุกปั่น ให้ก่อเหตุทะเลาะวิวาท ตามสื่อ Social และสื่อต่างๆ ซึ่งมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมากนั้น ทางกระทรวงศึกษาธิการ และ สอศ.จะทำหนังสือขอความร่วมมือไปที่ สตช. ขอให้กองบัญชาการ ตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท. หรือตำรวจไซเบอร์ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ดำเนินการตรวจสอบปิดเพจ เว็บไซต์ สื่อต่างๆ เหล่านั้น และดำเนินการตามกฎหมายเช่นกัน”นางสาวตรีนุช กล่าวและว่า มาตรการเหล่านี้ถือว่าเป็นมาตรการ
ที่จำเป็นต้องใช้เพื่อปกป้องนักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นคนดีมีความมุ่งมั่นตั้งใจ และตนก็ขอขอบคุณผู้ปกครองที่ไว้วางใจส่งบุตร หลานให้มาเรียนสายอาชีพ ตนจะช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัยให้ทุกคนได้เรียนอย่างมีคุณภาพ และมีความสุขทุกคน กระทรวงศึกษาธิการจะใช้มาตรการทุกรูปแบบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุความรุนแรงอีกต่อไป