เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ. ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว และมีผลให้อํานาจหน้าที่ที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ไปเป็นของคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำเขตพื้นที่ ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้กำหนดให้ คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา) และ คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา) ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ศธ.ได้เตรียมการรองรับ พ.ร.บ.ฉบับนี้มาอย่างต่อเนื่อง พร้อมเดินหน้าให้เป็นไปตามกฎหมาย และดำเนินการให้มี อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา รวม 245 เขตพื้นที่ฯ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 โดยที่ผ่านมาทางสำนักงาน ก.ค.ศ.ได้ยกร่างจำนวน องค์ประกอบ หลักเกณฑ์ และวิธีการได้มาซึ่ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการประชาพิจารณ์ สอบถามความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการก.ค.ศ.พิจารณา ทั้งนี้เมื่อคณะกรรมการ ก.ค.ศ. เห็นชอบหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว ก็สามารถดำเนินการสรรหา เพื่อให้มีอ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่ฯ ทำหน้าที่บริหารงานบุคคลได้ทันที
“ ดิฉันได้มอบหมายให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) เตรียมดำเนินการถ่ายโอนภารกิจเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลไปยังเขตพื้นที่การศึกษา พร้อมทั้งให้ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)ทุกเขตเตรียมการรองรับ โดยจัดเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและอบรมให้มีความรู้ เพื่อให้ช่วงรอยต่อการถ่ายโอนการบริหารงานบุคคลไม่มีปัญหา ส่วนการบริหารงานบุคคลในระหว่างนี้ ตามมาตรา 11 ของพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ระบุไว้ว่าการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งของ กศจ. ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคล ซึ่งกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากำหนดไว้ให้เป็นอำนาจของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาที่ค้างการดำเนินการอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19 /2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของศธ. ลงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2560 จนกว่าจะมี อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ตามพระราชบัญญัตินี้”น.ส.ตรีนุช กล่าว
ด้าน รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการก.ค.ศ. กล่าวว่า ที่ผ่านมา ก.ค.ศ. เตรียมความพร้อมรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าว ทั้งการปรับแก้หลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีวิทยฐานะหรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและเชี่ยวชาญ ตามข้อตกลงในการพัฒนางานหรือเกณฑ์ PA ที่เพิ่งประกาศใช้ไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม รวมถึงยกร่างจำนวน องค์ประกอบ หลักเกณฑ์ และวิธีการได้มาซึ่ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ โดยก.ค.ศ. พยายามรับฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้ร่างองค์ประกอบดังกล่าวมีความเป็นธรรม โดยองค์ประกอบของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่ฯ ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะมีคณะกรรมการทั้งหมด 11 ราย ประกอบด้วย ประธาน ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ เป็นเลขานุการโดยตำแหน่ง ร่วมด้วยไตรภาคี 3 ส่วนคือ ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ราย ผู้แทนส่วนราชการ 3 ราย และผู้แทนครู 3 ราย เพื่อให้การบริหารงานบุคคลของอ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม สามารถตรวจสอบได้ โดยคาดว่า จะสามารถเสนอร่างดังกล่าวให้ที่ประชุมคณะกรรมการก.ค.ศ. พิจารณาได้ภายในสัปดาห์หน้า จากนั้นเขตพื้นที่ฯ ก็สามารถดำเนินการสรรหาอ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯได้ทันที โดยให้มีการสรรหา อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้
เลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าการแก้ไขระเบียบ ข้อบังคับ อื่น ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายฉบับนี้นั้น ก.ค.ศ. ดำเนินการมาโดยตลอด โดยมีระเบียบ และข้อบังคับที่ต้องปรับแก้ รวม ประมาณ 160 ฉบับ ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่คำสั่งคสช.มีผลบังคับใช้ ซึ่งก.ค.ศ. จะพยายามปรับแก้ให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด