เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ตนได้เสนอให้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาสรรหาผู้บริหารระดับต้นแทนตำแหน่งว่าง 5 อัตรา คือ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) 1 ตำแหน่ง และรองเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) 2 ตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) 1 ตำแหน่ง และรองศึกษาธิการภาค (ศธภ.) 1 ตำแหน่ง  รวมถึงสรรหาผู้เหมาะสมดำรงตำแหน่งระดับอำนวยการสูง สำนักงานปลัด ศธ. 3 อัตรา ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักตรวจติดตาม ผู้อำนวยการศูนย์ขับเคลื่อนการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศค.จชต.) และรองผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การยูเนสโก นั้น รมว.ศึกษาธิการ เห็นชอบให้ดำเนินการสรรหาตามที่เสนอโดยเฉพาะ ตำแหน่ง ผอ.ศค.จชต.ซึ่งเว้นว่างมานานและมีความสำคัญต่อการบริหารการศึกษาในจังหวัดชายแดนใต้

ปลัด ศธ. กล่าวต่อไปว่า ส่วนการสรรหาศึกษาธิการภาค(ศธภ.)ให้ครบทั้ง 12 ตำแหน่ง ตามที่กำหนดไว้ในคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 พ.ศ.2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ รมว.ศึกษาธิการ ซึ่งเข้าใจว่า อาจจะรอให้ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…. มีความชัดเจนก่อน โดยขณะนี้ ร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร แล้ว คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาฯ วาระ 2 และ3 ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้

“เท่าที่ดูข้อกังวลของ รมว.ศึกษาธิการ เป็นเรื่องการทำงานของ ศธภ. และ ศึกษาธิการจังหวด (ศธจ.) ว่าจะไม่สอดคล้องกับโครงสร้างใหม่ เพราะฉะนั้นจึงมอบหมายให้คณะอนุกรรมการฝ่ายโครงสร้าง ซึ่งได้แต่งตั้งไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ จำนวน 10 คณะ ร่วมกันพิจารณา ขับเคลื่อนกฎหมายลูกให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับใหม่ โดยสิ่งที่ต้องดำเนินการ คือ จัดทำปฏิทินการดำเนินการต่าง ๆ ให้ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้าง เพื่อให้เกิดความรอบคอบ โดยเฉพาะเรื่องจำนวน ซึ่งไม่ควรจะมากเกินความจำเป็นและสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ และกฎหมายลูกด้านโครงสร้าง โดยยึดประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้เรียนและสถานศึกษาเป็นสำคัญ”ดร.อรรถพลกล่าวและว่า นอกจากนี้จะต้องจัดทำบทบาทของ ศธภ.และ ศธจ.ให้มีความชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกับการทำงานในพื้นที่ โดย ศธภ.และศธจ.ควรจะมีบทบาทในการผลักดันนโยบายจากส่วนกลางให้ไปสู่สถานศึกษา โดยเฉพาะการแสวงหาความร่วมมือภายใต้งบประมาณที่จำกัด

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments