เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2565 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย พะเยา และน่าน เพื่อเยี่ยมสถานศึกษา ติดตามการดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)และรับฟังความต้องการของพื้นที่ ร่วมกับ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และ ว่าที่ร้อยตรี ดร.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) พบว่า หนึ่งในข้อเรียกร้องของพื้นที่ที่ตรงกัน คือ ขอให้มีการจัดหลักสูตรทวิศึกษา ซึ่งเป็นการเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลายเมื่อสำเร็จการศึกษาผู้เรียนจะได้รับวุฒิการศึกษาทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสด้านวิชาชีพให้แก่ผู้เรียนสายสามัญศึกษาได้เรียนสายช่างควบคู่ไปด้วย แต่ช่วงที่ผ่านมาการสอนหลักสูตรทวิศึกษาได้หยุดชะงักลง และ ขณะนี้มีเด็กที่เรียนในหลักสูตรนี้ค้างท่ออยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งทางจังหวัดต้องการให้จัดหลักสูตรนี้ต่อไป โดยเฉพาะในกลุ่มโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนในโครงการพระราชดำริ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้เด็กกลุ่มด้อยโอกาส
“ดิฉัน ได้รับฟังรายงานการจัดการศึกษาหลักสูตรทวิศึกษา ของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 จังหวัดน่าน ซึ่งได้ทำบันทึกข้อตกลงกับวิทยาลัยสารพัดช่างน่าน โดยมีการจัดหลักสูตรทวิศึกษาร่วมกันใน 2 รายวิชา คือ หลักสูตรการตลาด และหลักสูตรช่างยนต์ มาตั้งแต่ปี 2558-2564 มีนักเรียนเรียนจบหลักสูตรจำนวน 104 คน และในส่วนของวิทยาลัยการอาชีพเวียงสา ได้จัดหลักสูตรทวิศึกษา ปี 2561 – 2562 มีนักเรียนจบหลักสูตร 32 คน ขณะที่จังหวัดเชียงราย โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 (เวียงเก่าแสนภูวิทยาประสาท) ได้ร่วมกับ วิทยาลัยการอาชีพเวียงเชียงรุ้ง เปิดสอนทวิศึกษา 6 สาขาวิชา ได้แก่ ช่างก่อสร้าง ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ธุรกิจ คหกรรม และการบัญชี ทำให้นักเรียนที่จบหลักสูตรทวิศึกษา สามารถเลือกเรียนต่อในระดับสูงได้ทั้งสายวิชาชีพในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) และ ปริญญาตรี ขณะเดียวกันเด็กบางคนก็สามารถนำความรู้และวุฒิ ปวช.ไปประกอบอาชีพได้เลย” นางสาวตรีนุช กล่าว
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ตนได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ร่วมกันขับเคลื่อนการจัดหลักสูตรทวิศึกษา โดยมีการจัดทำแผนระดับจังหวัด ว่า ควรจัดทวิศึกษารายวิชาใด ในโรงเรียนไหน รวมถึงแก้ไขปัญหาที่ทำให้โครงการนี้หยุดชะงักลง สำหรับเด็กชั้น ม.4 เรียนหลักสูตรทวิศึกษาซึ่งที่ค้างท่ออยู่ในปัจจุบันก็ให้จัดการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง และสามารถเปิดรับนักเรียนรุ่นต่อไปในปีการศึกษา 2566 ได้ ทั้งนี้ ตนได้ย้ำไปด้วยว่าการจัดหลักสูตรทวิศึกษาให้เป็นไปตามความพร้อมของทั้งโรงเรียนและวิทยาลัย และผู้ที่จะได้รับประกาศนียบัตร 2 หลักสูตร จะต้องเรียนรายวิชาครบตามเงื่อนไขของทั้ง 2 หลักสูตร ในการนี้ให้เลขาธิการ กพฐ.และเลขาธิการ กอศ.หารือร่วมกันในรายละเอียดการดำเนินงานทั้งการจัดการเรียนการสอนและงบประมาณต่อไป.