เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า เรื่องแรกที่ตนอยากขับเคลื่อนและพัฒนาการอาชีวศึกษา คือ การปรับภาพลักษณ์ของอาชีวะในสายตาประชาชนใหม่ ซึ่งเดิมประชาชนอาจจะมองอาชีวะในเชิงของความรุนแรง ใช้กำลัง และมองว่าการเรียนอาชีวศึกษาไม่สามารถตอบโจทย์ตลาดแรงงานได้ ทำให้ประชาชนไม่มั่นใจส่งบุตรหลานมาเรียนอาชีวะ ดังนั้น เราต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียน นักศึกษาอาชีวะ โดยขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้จับมือทุกภาคส่วนแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียน นักศึกษา เพื่อให้ปัญหาดังกล่าวเป็น O ให้ได้ พร้อมกับพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนที่มีทัศนคติที่ดี มีจิตอาสา มีคุณธรรม และช่วยเหลือสังคม
รก.เลขาธิการกอศ. กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามนอกจากจะพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนอาชีวศึกษาแล้ว ตนจะทบทวนและศึกษาเอกสารบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่าง สอศ.กับหน่วยงาน และMOU กับประเทศต่างๆ ที่เคยทำไว้แล้ว ว่าควรจะเพิ่มเติมด้านไหนบ้าง เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีรถไฟความเร็วสูง และมีการเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำทันสมัยอย่างรวดเร็วมาก ดังนั้นเราอาจจะนำแนวทางการจัดการเรียนการสอนของจีนมาพัฒนาปรับการเรียนการสอนอาชีวะในประเทศไทย หรืออาจจะทำความร่วมมือแลกเปลี่ยนครู และนักศึกษา เพื่อให้คนเหล่านี้กลับมาถ่ายทอดความรู้ที่ได้เรียนมาอีกทอดหนึ่ง ส่วนประเทศแถบยุโรป สอศ.ก็ไม่ทิ้ง เช่น ประเทศอิสราเอล เป็นประเทศที่มีที่ดินน้อย แต่สามารถปลูกผัก ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ได้ เป็นต้น ซึ่งเรามีวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) มีพื้นที่มากมาย ควรพัฒนาเป็นการเรียนเกษตรนวัตกรรมใหม่ โดยอาจจะร่วมมือกับภาคเอกชน ให้เอกชนมาใช้พื้นที่ของ วษท.ทำธุรกิจพร้อมกับสอนนักศึกษาของ วษท.ไปด้วย
“ ผมอยากให้มีการยืดหยุ่นในเรื่องเหล่านี้ ผมคิดว่าควรจะลดเวลาเรียนในห้องเรียน และไปเพิ่มประสบการณ์ในสถานประกอบการให้มากขึ้น เพื่อให้นักศึกษามีประสบการณ์ มีรายได้ระหว่างเรียน เมื่อนักศึกษาเรียนจบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จะต้องมีงานและมีเงินติดตัว หรือสามารถไปประกอบอาชีพได้ทันที อย่างไรก็ตาม ยังเป็นเพียงแนวคิดของผมอยู่ ซึ่งผมจะนำแนวคิดนี้ ไปหา คณะกรรมการการอาชีศึกษา (กอศ.) ที่มีนายรอยล จิตรดอน เป็นประธาน และระดมรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อมาวิเคราะห์ว่าแนวคิดนี้เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และจะต่อยอดอย่างไร”ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าวและ ทั้งนี้อยากสื่อสารกับผู้บริหารวิทยาลัยในสังกัด สอศ. ว่าสิ่งไหนที่ทำแล้วดี ตนจะไม่ไปเปลี่ยนอะไร ให้รักษาไว้และจะเข้าไปต่อยอดให้ดีกว่าเดิม แต่สิ่งไหนที่ควรทำ และยังไม่ได้ทำ ตนจะเร่งดำเนินการพัฒนา ทั้งนี้จะเน้นย้ำว่า สอศ.จะต้องทำงานเป็น ONE TEAM และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตั้งสมาคมผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.อ.ท.) เพราะวันนี้ผู้บริหารวิทยาลัยอาชีวะยังไม่มีการรวมกลุ่ม ดังนั้น ตนจะรวมกลุ่มผู้บริหารวิทยาลัยอาชีวศึกษาขึ้นมา เพื่อให้มีผู้แทนไปดูแลพัฒนาผู้อำนวยการสถานศึกษา รองผู้อำนวยการ ครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้มีขวัญกำลังใจ และมีความก้าวหน้าต่อไป
ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าวอีกว่า ในการประชุมผู้บริหารระดับสูง ของ ศธ. ที่มี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน เมื่อเร็วๆนี้ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้มอบหมายให้องค์กรหลักวางแผนประชาสัมพันธ์ผลการทำงานของแต่ละองค์กรเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ว่า ศธ.ทำงานขับเคลื่อนการศึกษาอะไรมาแล้วบ้าง นอกจากนี้ยังฝากการบ้านให้หน่วยงานหลักไปเตรียมของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนด้วย