เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 ที่ วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี ได้มีการประชุมเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาพฤติกรรมไม่เหมาะสมของนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ครั้งที่  1 ประจำปีงบประมาณ 2566  โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ดร.ธนุ วงษ์จินดา รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.)  พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข  นายทวีศักดิ์ คิ้วทอง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี ประธานกรรมการอาชีวศึกษากรุงเทพ ผู้แทนองค์การขนส่งกรุงเทพ  สมาคมศิษย์เก่า สมาคมผู้ปกครองและครูวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

ว่าที่ร้อยตรี ดร.ธนุ กล่าวว่า ตนได้หารือร่วมกับผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ซึ่งเห็นตรงกันว่า ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นในเมืองหลวงมักจะเป็นแบบอย่างให้ในภูมิภาคทำตาม ดังนั้นถ้าเราสามารถป้องกัน และแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนนักศึกษาในเมืองหลวง กรุงเทพฯและปริมณฑลได้ เชื่อว่านักเรียน นักศึกษาที่อยู่ในต่างจังหวัด หรือ ภูมิภาคอื่นๆ จะไม่ทำตาม โดยการแก้ป้องกันและแก้ไขปัญหาจะต้องทำร่วมกันหลายภาคส่วน อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาจะพบว่าปัญหาทะเลาะวิวาทของนักเรียนนักศึกษาอาชีวะมีแนวโน้มที่จะลดลง ก็ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมกันเป็นอย่างดี แต่สิ่งที่ต้องขับเคลื่อนต่อไปคือหาวิธีป้องกันไม่ให้เด็กอาชีวะมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ซึ่งการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมร่วมกันก็จะทำให้ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างมาก ซึ่ง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะนำข้อมูลที่ได้มาดำเนินงาน และจะมีการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน โดยมีเป้าคือ ปิดจ๊อบให้ปัญหาพฤติกรรมไม่เหมาะสมของเด็กอาชีวะหายไป

เลขาธิการ กอศ.กล่าวว่า  ตนได้เน้นย้ำให้ผู้บริหารวิทยาลัยทุกแห่ง เฝ้าระวังและคัดกรองเด็กกลุ่มเสี่ยง แล้วขอให้วิทยาลัยหาพื้นที่ หากิจกรรมให้เด็กได้แสดงออกในเชิงบวก เพื่อให้ปัญหาลดลงไปอย่างจริงจัง นอกจากนี้ สอศ.ต้องร่วมกันสร้างภาพลักษณ์ใหม่ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการเรียนสายอาชีวศึกษา และเป็นการร่วมกันสร้างและผลิตพัฒนากำลังคนอาชีวะสู่การพัฒนาประเทศให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ร่ำรวยด้วยมืออาชีวะ  ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นักศึกษาอาชีวะเป็นกำลังสำคัญของประเทศ ถ้าอาชีวะสร้างคนได้ก็จะเป็นการสร้างกำลังคนสร้างอนาคตของชาติ  ขณะที่ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็ย้ำว่าสถานศึกษาทุกแห่งต้องมีความปลอดภัย มีความรัก ความอบอุ่น และมีความสุข จึงเป็นหน้าที่ของผู้บริหารทุกวิทยาลัยที่จะต้องวิทยาลัยเป็นสถานที่ปลอดภัย มีความรักความสามัคคี เด็ก ๆ มีความประพฤติดี ขณะเดียวกันคณะครูก็ต้องมีระบบการดูแลนักเรียนนักศึกษา ต้องรู้จักเด็กทุกคน ต้องรู้ว่ากลุ่มไหนมีความเสี่ยงก็ต้องคัดกรองแล้วดึงออกมา แล้วประสานหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาดูแลรวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่หากไม่ไหวจริง ๆ ก็จำเป็นต้องใช้มาตรการขั้นสุดท้ายคือมาตรการทางกฎหมายเข้าไปจัดการ

“จริง ๆ แล้ว นักเรียน นักศึกษาอาชีวะส่วนใหญ่เป็นเด็กดี มีจิตอาสา จะมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ที่ต้องใช้มาตรการเด็ดขาดเข้าไปดูแล ฉะนั้นเวลานี้จึงต้องมุ่งมั่นสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนมีศรัทธาในนักเรียน นักศึกษาอาชีวะ ที่จะนำพาประเทศก้าวไปข้างหน้าโดยปราศจากความขัดแย้ง แต่ก็ไม่ใช่แค่รัฐบาลเท่านั้นที่จะทำหน้าที่นี้  ทุกคน ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกัน”ว่าที่ร้อยตรี ดร.ธนุกล่าว

พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ภาพของปัญหาวันนี้เป็นเหมือนภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งเรากำลังเอาในส่วนที่อยู่ข้างใต้ที่ยังไม่โผล่พ้นน้ำมาคุยกันก่อนที่เขาจะแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม ว่าเกิดปัญหาจากอะไร วันนี้เป็นการคุยกันในทางการแพทย์ ทางครอบครัว และที่สำคัญคือทางสถานศึกษา ซึ่งศิษย์เก่าก็ได้ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ว่า ก่อนที่เขาจะแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมครูอาจารย์อาจจะให้งานหรือกิจกรรมที่เป็นประโยชน์มากขึ้น เพื่อให้มีเวลาว่างน้อยลง ซึ่งจะทำให้เด็กกลุ่มนี้เป็นคนเก่งได้ ก็มีตัวอย่างว่าวันนี้หลายคนเป็นเจ้าของกิจการ เป็นเจ้าของโรงงาน โดยกลุ่มนี้อาจเป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมที่ครูจับจ้องได้ว่าจะส่อพฤติกรรมไปในทางที่ไม่เหมาะสม เพราะฉะนั้นคิดว่าถ้าเราได้ทำภายใต้ก้อนน้ำแข็ง คือ ภายในโรงเรียน ภายในสถาบันครอบครัวประสบความสำเร็จได้ พฤติกรรมที่จะเป็นยอดน้ำแข็งก็จะไม่ปรากฎ

นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สำหรับแนวทางแก้ปัญหาความรุนแรงของวัยเรียนวัยรุ่นในสถานศึกษานั้น ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดความรุนแรงในวัยรุ่น คือ เพื่อน โรงเรียน ชุมชน สิ่งแวดล้อม สื่อ และเกมออนไลน์ ทั้งนี้มีข้อเสนอแนะเพื่อการขับเคลื่อนนโยบายป้องกันการเกิดเหตุทะเลาะวิวาท คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกาศนโยบายดำเนินการให้ทุกสังกัดของ ศธ.​เน้นระบบการดูแลช่วยเหลือในภาพของพื้นที่จังหวัดให้ครอบคลุม ทั้งระบบการคัดกรอง เฝ้าระวัง การปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุกรณีเกิดเหตุวิกฤติและความรุนแรงในโรงเรียน และการจัดระบบ Mapping Consultant รวมทั้งการบริหารและจัดการข้อมูล พร้อมกับให้มีการกำกับติดตามโดยผู้บริหารของทั้งส่วนกลาง เขต และจังหวัด พร้อมทั้งรายงานข้อมูลผ่านระบบติดตามอย่างสม่ำเสมอ และให้มีการอบรมครู บุคลากร แกนนำนักเรียน ชุมชน ให้มีทักษะและความรอบรู้ในการปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติและแผนเผชิญเหตุ

 

5 1 vote
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments