เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศึกษาธิการ)กล่าวระหว่าง เป็นประธานเปิดการ Kick-0ff การสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาชุมชน ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการสร้างรายได้ และอาชีพให้กับนักเรียนและชุมชน อำเภอวังสมบูรณ์(อำเภอต้นแบบ)จังหวัดสระแก้ว ว่าในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง การจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 หรือการจัดการศึกษาเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต การพัฒนาตนเอง การพัฒนาทักษะอาชีพ และการพัฒนาทักษะฝีมือ ถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการที่มุ่งเน้นให้คนไทยได้รับการพัฒนาการศึกษาทุกช่วงวัย ในทุกสถานที่ ทุกที่และทุกเวลา ทั้งการเรียนในระบบที่หลากหลาย เพื่อให้เกิดเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงเรื่องการศึกษา ในฐานะลูกหลานชาวสระแก้วและมีโอกาสได้เข้าไปทำงานในกระทรวงศึกษาธิการที่ดูแลการศึกษาในทุกมิติ ทำให้เห็นถึงข้อจำกัดในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณที่ถึงแม้กระทรวงศึกษาธิการจะได้งบฯเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ แต่งบประมาณที่ได้มาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของบุคลากร ทำให้งบฯพัฒนาน้อย เมื่อมีโอกาสดูเรื่องการศึกษาก็พยายามมองว่าจะสามารถพัฒนาด้านการศึกษาอะไรให้กับประเทศบนข้อจำกัดที่มีอยู่ ทั้งการสร้างคุณภาพ การลดความเหลื่อมล้ำและการสร้างโอกาส จึงเกิดเป็น”สระแก้วโมเดล” โดยทำกลุ่มโรงเรียนคุณภาพ 58 โรง ในจังหวัดสระแก้ว เพื่อให้โรงเรียนเหล่านี้เป็นโรงเรียนคุณภาพอย่างแท้จริง ไม่ใช่คุณภาพแค่ชื่อ โดยมีการจัดสื่อดิจิทัล เข้าไปในโรงเรียน ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้เด็ก ๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลและสื่อต่าง ๆ ได้อย่างเท่าเทียม แม้จะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกลก็จะไม่ทอดทิ้ง แต่จะสร้างเสริมให้เข้าถึงคุณภาพให้ได้
“การ Kick-0ff ในวันนี้เป็นการเน้นการสร้างเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 โดยกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ซึ่งบริบทแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นสระแก้วโมเดล ก็จะเป็น 1 ในโมเดลที่ทำให้เห็นว่า การเรียนรู้แบบ Active Learning สามารถขับเคลื่อนและจับต้องได้ อย่างเช่น อำเภอวังสมบูรณ์เป็นพื้นที่เกษตร ก็ได้มีการส่งเสริมให้นักเรียนเข้ามาดูชุมชนของตัวเอง เพราะการเรียนรู้ไม่ต้องการให้อยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยม แต่ต้องการให้เด็กได้เชื่อมโยงกับชุมชน ซึ่งเด็ก ๆ ก็ได้มาเห็นว่าชุมชนมีใบไม้ ปริมาณมาก จึงได้ช่วยกันคิดว่าจะนำเศษใบไม้ไปทำอะไรได้บ้างที่ไม่ใช่การเผา และเป็นการลดปัญหาขยะ ลดโลกร้อน และรักษาสิ่งแวดล้อมได้ด้วย เด็ก ๆ จึงคิดว่าต้องเอามาทำปุ๋ย โดยได้มีการเชื่อมโยงระหว่างสายอาชีพ กับสายสามัญ เกิดเป็นนวัตกรรมเครื่องจักรที่จะมาย่อยเศษใบไม้ เพื่อมาทำปุ๋ย และยังมีเรื่องการวางแผนการทำธุรกิจ เป็นการสร้างอาชีพให้กับเด็ก ๆ “น.ส.ตรีนุช กล่าวและว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการเชื่อมโยงวิชาต่าง ๆ ที่เด็กได้เรียนมาให้เด็กได้คิด เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดจากการลงมือปฏิบัติจริง สามารถจับต้องได้ และเด็กได้คิดว่าจะนำความรู้ที่เรียนมาทั้งหมดไปทำอะไรได้บ้าง ทั้งนี้จะมีการขยายผล”สระแก้วโมเดล”ให้ทั่วถึงทั้งจังหวัด และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนก่อนจะขยายผลไปทั่วประเทศ เพราะแต่ละพื้นที่มีบริบทแตกต่างกัน