เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565 ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 37 จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีเป้าหมายในการจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กด้อยโอกาส เด็กยากจน ให้ได้รับโอกาสและได้รับความเท่าเทียมด้านการศึกษา และจากการลงพื้นที่พบว่าโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 37 มีวิธีการบริหารและจัดการเรียนการสอนที่สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ โดยโรงเรียนได้ให้โอกาสเด็กด้อยโอกาสในเขตพื้นที่บริการเข้ามาเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมถึงให้โอกาสทางการศึกษากับเด็กที่เคยอยู่ในสถานพินิจ ให้กลับมาเรียนเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตของตน
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไป โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 37 จังหวัดกระบี่ เน้นการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งให้เด็กมีทักษะชีวิต และทักษะอาชีพ มากกว่าทักษะวิชาการ เพื่อให้เด็กเรียนจบไปมีอาชีพ มีงานทำทันที นอกจากนี้โรงเรียนได้ปรับสภาพแวดล้อมให้โรงเรียนเป็นโรงเรียนแห่งความสุข โดยออกแบบบ้านพักที่ดีสำหรับเด็ก มีอาหารกลางวันถูกหลักโภชนาการ การดูแลชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี เพราะมีการดูแลระหว่างนักเรียนกับนักเรียน ระหว่างพี่กับน้อง ระหว่างครูกับนักเรียน และระหว่างผู้บริหารกับครู ที่ดี ซึ่งเมื่อเห็นภาพนี้แล้ว คิดว่า หากเราทำโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ที่เน้นสอนเด็กด้อยโอกาส ให้มีคุณภาพและมาตรฐานเดียวกัน จะลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาได้เป็นอย่างดี รมว.ศึกษาธิการ จึงมอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ถอดบทเรียนการบริหารจัดการของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 37 จังหวัดกระบี่เพื่อไปขยายผลให้โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์อื่นๆ ปฏิบัติตาม
“ผมจะนำหลักการที่รมว.ศึกษาธิการมอบไว้มาปฏิบัติ และคิดว่า ต่อไปผู้อำนวยการโรงเรียนที่จะมาดูแลโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ อาจจะต้องเข้ารับการอบรมในโรงเรียนต้นแบบ เพื่อดูว่าโรงเรียนบริหารจัดการอย่างไรถึงประสบความสำเร็จ เพื่อนำไปพัฒนาโรงเรียนของตนต่อไป อย่างไรก็ตามผมมองว่า ทิศทางการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์และโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ในอนาคตจะไม่เน้นให้นักเรียน เรียนในห้องเรียน แต่จะเน้นสอนทฤษฎีที่จำเป็นและให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้การเรียนการสอนแบบ Active Learning เป็นรูปธรรมมากขึ้น และตอบโจทย์เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส พัฒนาเด็กให้มีทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ ซึ่งจะทำให้เด็กเหล่านี้เป็นต้นแบบหลุดพ้นจากความยากจนได้”ดร.อัมพรกล่าวและว่า ทั้งนี้ รมว.ศึกษาธิการได้เน้นย้ำการสร้างทักษะอาชีพ และทักษะชีวิต ให้นักเรียนในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ ว่า สพฐ.และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ต้องสร้างสะพานเชื่อมโยงกัน และต้องไม่มีพรมแดนระหว่างกัน ซึ่งตนได้หารือร่วมกับ ว่าที่ร้อยตรี ดร.ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการ กพฐ. ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) เพื่อสร้างมิติใหม่ในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่จะทำให้สพฐ. และ สอศ.สามารถทำงานเชื่อมต่อกันได้อย่างแท้จริง