เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศึกษาธิการ)ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมหารือเรื่อง”ระบบการดูแลนักเรียนและครูด้าน Mental Health ในสถานศึกษา ร่วมกับ นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารระดับสูง ศธ.ว่า ศธ.ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยเป็นภาระเร่งด่วน เพื่อให้โรงเรียนเป็นบ้านหลังที่สองของเด็ก โดยเฉพาะหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 สภาพจิตใจของเด็กและครูต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด จึงได้ตั้งคณะกรรมการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยด้านการศึกษาและสาธารณสุขมาดูในเรื่องความปลอดภัยของเด็กในทุกมิติ โดยได้ลงไปให้พื้นที่ทำแผน โมเดลคัดกรองเด็กว่า อยู่ในไหน กลุ่มสีแดง สีเหลือง หรือสีเขียว เพื่อเชื่อมโยงกับสาธารณสุขจังหวัดในการเข้าไปดูแลเด็ก โดยเฉพาะกลุ่มสีแดงซึ่งเป็นกลุ่มวิกฤติ โดยให้ทำงานร่วมกับหน่วยงานหลักของศธ.
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ในการคัดกรองเด็กจะมีแพลตฟอร์มระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน และเครื่องมือการตรวจคัดกรอง School Health Hero เพื่อให้เป็นระบบเดียวกัน และสามารถเชื่อมโยงข้อมูล รวมถึงแยกเด็กเป็นกลุ่มได้เร็วที่สุด เมื่อแยกเด็กได้แล้วก็จะมีแผนเผชิญเหตุและผู้ให้คำปรึกษาเพื่อดูแลเด็ก โดยความร่วมมือของกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ในการประเมินคัดกรองเด็กจะปูพรมทำพร้อมกันทั้งประเทศ โดยเน้นนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีตัวเลขค่อนข้างสูง ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ของคณะกรรมฯพื้นที่เสี่ยงสุดตอนนี้คือพื้นที่ทางภาคเหนือ ภาค ตะวันออกเฉียงเหนือและพื้นที่ชายขอบ ซึ่งเป็นกลุ่มเปาะบาง”น.ส.ตรีนุช กล่าว
นพ.สราวุฒิ กล่าวว่า พื้นที่ที่มีความวิกฤติและน่ากังวลที่สุด จากการลงพื้นที่ของคณะกรรมการฯที่ลงไปทุกภาคแล้ว พบว่า ทางภาคเหนือ กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและพื้นที่ที่ยังจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ และยังขาดแคลนผู้ให้คำปรึกษา ถือเป็นพื้นที่เร่งด่วน แต่ตามนโยบายของ รมว.ศึกษาธิการ ต้องการให้ทำทั้งระบบพร้อมกันทุกสังกัด โดยมีคณะกรรมการในจังหวัดเป็นหลัก
ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ในส่วนของ สพฐ.ปัจจุบันมีทีมนักจิตวิทยาประจำเขตพื้นที่ ประจำโรงเรียน รวมถึงมีครูแนะแนวและครูอนามัยอยู่ในโรงเรียนที่ดูแลเรื่องสุขภาพจิตและความปลอดภัยเด็กอยู่แล้ว และยิ่งตอนนี้ รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายสำคัญที่จะเพิ่มความเข้มข้นในการดูแลความปลอดภัยของเด็กรวมถึงครูด้วย สพฐ.ก็จะเน้นย้ำไปให้มากขึ้น
ผู้สื่อถามว่า พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ออกมาเรียกร้องให้ศธ.ออกกฎคุ้มครองนักเรียนไม่ให้ครูใช้เด็กเป็นคอนเทนต์ใน Tik Tok น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า ครูคงไม่มีเจตนาทำร้ายเด็ก ๆ และด้วยความน่ารักของเด็กครูก็คงอยากจะมีภาพที่น่ารักของลูกหลานสื่อสารออกไป แต่ก็ยอมรับว่าโลกโซเชียลมาเร็ว ทำให้ขาดการระมัดระวังว่าเรื่องสิทธิเด็กเป็นเรื่องสำคัญ จึงได้เน้นย้ำกับทุกหน่วยงานของศธ.ให้ระมัดระวังในเรื่องนี้ และสร้างการรับรู้ว่า การกระทำที่ทำไปด้วยความเอ็ดดูอาจเป็นการเกินเลยเรื่องกฎหมาย จนละเมิดสิทธิได้ ก็ขอให้ระมัดระวังและอยู่ในกรอบของการเรียนการสอนและเป็นเรื่องของการศึกษาเท่านั้น