พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยหลังการเป็นประธานการประชุมโครงการการขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมอาชีวศึกษาเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม (ภาคใต้ชายแดน) ณ วิทยาลัยเทคนิคยะลา สถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 3 จังหวัดยะลา ว่า การขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมอาชีวศึกษาเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม (ภาคใต้ชายแดน) ระหว่างวันที่ 18 – 20 กันยายน 2561 จัดขึ้นเป็นครั้ง 6 โดยเป็นการจับคู่ระหว่างสถานประกอบการกับสถานศึกษาอาชีวศึกษา และการเจรจาซื้อขาย ผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมอาชีวศึกษา ตลอดจนการให้คำแนะนำจากสถานประกอบการ มีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมอาชีวศึกษา ให้สามารถพัฒนาต่อยอดธุรกิจเชิงพาณิชย์ ซึ่งนับเป็นหัวใจที่สำคัญของการจัดงาน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา มีสมรรถนะ เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ด้านนวัตรกรรม สิ่งประดิษฐ์ และงานวิจัย ซึ่งสามารถนำความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ไปใช้ในการประดิษฐ์และต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้อีก ทั้งนี้ผลจากความร่วมมือในการพัฒนาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี จะช่วยนำพาประเทศชาติให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี
ด้าน ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.)กล่าวว่า งานนี้มีสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมอาชีวศึกษา (ภาคใต้ชายแดน) มาจัดแสดงรวมทั้งสิ้น 67 ผลงาน มีสถานประกอบการเข้าร่วม 30 แห่ง สถานศึกษาอาชีวศึกษาเข้าร่วม 15 แห่ง การจับคู่ธุรกิจ 30 คู่ ผลงานซื้อขาย 11 ผลงาน และมูลค่าซื้อขายไม่น้อยกว่า 131,000 บาท นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น การจัดนิทรรศการศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาภาคใต้ การจัดนิทรรศการ “Open House” การจัดแสดงผลงานโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) พร้อมทั้งมีการชี้แจงนโยบายสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมอาชีวศึกษา รวมถึงการเจรจาความร่วมมือจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างสถานประกอบการกับสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)เพื่อการขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมอาชีวศึกษาเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม (ภาคใต้ชายแดน)
เลขาธิการ กอศ.กล่าวต่อไปว่า การเจรจาซื้อขายผลงานสิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษาของสถานศึกษาอาชีศึกษา จากผลงานสิ่งประดิษฐ์ 67 ผลงานนั้น ดำเนินการใน 4 รูปแบบ ดังนี้ 1. เจรจาเพื่อซื้อสิ่งประดิษฐ์หรือต้นแบบสิ่งประดิษฐ์ 11 ผลงาน 2. แนะนำเพิ่มเติมจากสิ่งประดิษฐ์เดิมแล้วจะซื้อสิ่งประดิษฐ์ 3 ผลงาน 3. ให้โจทย์นักศึกษาอาชีวศึกษา ในการนำไปสร้างสิ่งประดิษฐ์เพื่อที่จะซื้อต่อไป 3 ผลงาน และ 4. ให้คำแนะนำและช่วยเป็นที่ปรึกษาในการนำไปสร้างสิ่งประดิษฐ์ ทั้งปัจจุบันและอนาคต เพื่อดำเนินการทางธุรกิจต่อไป 15 ผลงาน