เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กล่าวถึงกรณีนักวิชาการวิพากษ์วิจารณ์กรณีคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่กำหนดให้ ครูผู้ช่วยที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูแล้ว และปฏิบัติหน้าที่ในสถานศึกษาปัจจุบันไม่น้อยกว่า 2 ปี สามารถยื่นคำร้องได้เลย โดยไม่ต้องรอ 4 ปี จะส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนครู เพราะครูโรงเรียนขนาดเล็กจะขอย้ายไปอยู่โรงเรียนขนาดใหญ่ และมองว่า เป็นการหาเสียงใช้การเมืองนำการศึกษา ว่า การที่ก.ค.ศ.ออกเกณฑ์ดังกล่าวมาได้มองในหลายมิติ ทั้งการแต่งตั้งโยกย้าย ค่าใช้จ่าย รวมถึงขวัญกำลังใจของครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งองคาพยพ ไม่ได้มองแค่มิติเดียว รวมถึงมีการวางระบบการแก้ไขปัญหาขาดแคลนครูในโรงเรียนขนาดเล็กไว้แล้ว โดยมีการปรับระบบการจัดสรรอัตรากำลัง ซึ่งจะทำให้โรงเรียนขนาดเล็กได้รับการจัดสรรครูเพิ่ม
“การปรับระบบครั้งนี้ ก.ค.ศ.มองภาพกว้าง มองในหลายมิติ เพื่อให้งานบริหารบุคคลมีความเชื่อมโยงกันอย่างมีคุณภาพ และไม่ได้มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง การวิจารณ์ลักษณะดังกล่าว เป็นการนั่งวิจารณ์อยู่บนหอคอยงาช้าง อยากให้มองในมิติอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะในมุมการสร้างขวัญกำลังใจให้ครู ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ”เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไป ครูจะสามารถขอย้ายได้ทุก 2 ปีอยู่แล้ว เพียงแต่หลักเกณฑ์ไปกำหนดให้ครูผู้ช่วย หรือครูใหม่ จะต้องย้ายเมื่อทำงานครบ 4 ปี ดังนั้น การออกเกณฑ์ดังกล่าวจึงเป็นเพียงการปลดล็อกให้ครูผู้ช่วยสามารถขอย้ายได้ภายใน 2 ปี เช่นเดียวกับครูทั่วไป นอกจากมิติอัตรากำลังแล้ว ยังมองถึงคุณภาพชีวิต ซึ่งตำแหน่งครูผู้ช่วย ถือเป็นการเริ่มต้นชีวิตการทำงานของครู หากได้บรรจุแต่งตั้งในโรงเรียนขนาดใหญ่ หรือโรงเรียนที่มีคุณภาพ ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่หากได้ไปบรรจุแต่งตั้งในพื้นที่ห่างไกล ก็อาจเป็นความทุกข์ เรื่องนี้ต้องนึกถึงใจของครูด้วย ยืนยันว่าการปรับหลักเกณฑ์ใด ก.ค.ศ.มองในภาพรวมหลายมิติ โดยเฉพาะขวัญกำลังใจในการทำงานของครูและบุคลากรทางการศึกษา