เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)พระนครศรีอยุธยาเขต 2 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วย ดร.อัมพร พินะสาเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และ ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการเติมเต็มภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอัจฉริยะ เพื่อการพัฒนาศักยภาพนักเรียน โดยมีนายไพรัตน์ เพชรยวน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมรับฟังรายงานผลการดำเนินงาน จากว่าที่ร้อยตรีสำรวย นกงาม ผู้อำนวยการ สพป.พระนครศรีอยุธยา เขต 2
โดยน.ส.ตรีนุช กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา เราได้เผชิญความท้าทายผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 โควิด -19 ซึ่งรวมถึงผลกระทบที่มีต่อการเรียนการสอน ที่เกิดขึ้นกับคุณครูและนักเรียนทั่วประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ได้ติดตามสถานการณ์โดยตลอด และได้ออกมาตรการสำคัญเพื่อเป็นการเยียวยาช่วยเหลือ ไม่ว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้แก่คุณครู บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียน การให้เงินช่วยเหลือแก่ครอบครัวของนักเรียนรายละ 2,000 บาท รวมถึงปัจจุบันที่ยังคงเข้มงวดในมาตรการความปลอดภัย 6-6-7 ที่สถานศึกษาต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อให้เด็กนักเรียนได้มีโอกาสเรียนหนังสือในรูปแบบ On site ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด
รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า สพป.พระนครศรีอยุธยา เขต 2 ได้ดำเนินการตามโครงการต่างๆ ของ ศธ. เพื่อให้เด็กได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ เช่น โครงการพาน้องกลับมาเรียน ก็สามารถดึงเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 กลับเข้าสู่ระบบได้ 100% และ สพป.พระนครศรีอยุธยา เขต 2 ยังเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอย โดยสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย และที่นี่ยังเป็นแบบอย่างให้หลายพื้นที่ ผ่านวิกฤตร่วมกันในหลายๆเรื่อง
ด้านว่าที่ร้อยตรีสำรวย นกงาม ผู้อำนวยการ สพป.พระนครศรีอยุธยา เขต 2 กล่าวว่า สพป.พระนครศรีอยุธยาเขต 2 ได้แก้ไขปัญหา Learning Loss ในช่วงที่เด็กไม่ได้มาเรียนที่โรงเรียนโดยจัดตั้งสถานีทีวีเพื่อการศึกษา AYA 2 CHANNEL เพื่อถ่ายทอดสดการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยจัดทำคลิปการสอนของครูที่เป็นครูต้นแบบในวิชาต่างๆ เพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอนผ่านสถานีโทรทัศน์ AYA 2 CHANNEL โดยมีการกำหนดตารางสอนผ่านสถานีทีวีดิจิทัล AYA 2 CHANNEL ที่ชัดเจน โดยในระดับปฐมวัยมี 4 กิจกรรมหลัก และการจัดการเรียนการสอนในช่วงชั้นต่างๆ เน้นสอนตามหลักสูตร ที่สอดคล้องตามบริบท ดังนี้ ช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-ป.3) สอนภาษาไทยกับคณิตศาสตร์ ช่วงชั้นที่ 2 (ป.4-ป.6) สอนวิทยาศาสตร์กับภาษาอังกฤษ ส่วนมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1-ม.3) สอนงานอาชีพ และมีการต่อยอดนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนโดยสร้างตู้เทคโนโลยีดิจิทัลอัจฉริยะ ขึ้น ซึ่งใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย เช่น ครูใช้สอนออนไลน์ได้ เป็นต้น
จากนั้น น.ส.ตรีนุช และคณะได้ลงพื้นที่ดูการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนคอตันอำเภอบางซ้าย ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กต้นแบบ DLTV มีรูปแบบการเติมเต็มLearning Loss และทดลองใช้ตู้เทคโนโลยีดิจิทัลอัจฉริยะโดยชุมชนเป็นฐาน และเยี่ยมชมผลงานนักเรียนที่เกิดจากการจัดกิจกรรม Active Learning