เมื่อวันที่ 2สิงหาคม 2565 ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการการจัดการเรียนรู้เชิงรุกด้วยกระบวนการ GPAS 5 ขั้นตอน สู่การสร้างนวัตกรรมนักเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร โดย นางสาวน้ำฝน อยู่ดี รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำนักการศึกษา ได้จัดทำแผนพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานของกรุงเทพมหานคร ให้สอดคล้องกับแผนระดับประเทศ โดยกำหนดแนวทางการจัดการศึกษาให้มีกระบานการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายมุ่งสู่ศตวรรษที่ 21 มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะการคิดขั้นสูง มีทักษะของนวัตกร มีความสามารถในการออกแบบและ
สร้างสรรค์นวัตกรรม อันจะพัฒนาไปสู่การเรียนรู้ทางวิชาชีพที่เข้มแข็งต่อไป

“การอบรมวันนี้ จะช่วยให้บุคลากรทางการศึกษาทุกท่านได้รับความรู้ความเข้าใจ ในการออกแบบการสอนเชิงรุก หรือ Active Learning เพื่อพัฒนาการคิดขั้นสูงเชิงระบบ โดยใช้กลไกของ GPAS ๕ ขั้นตอน โดยเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงห้องเรียนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติและพัฒนาความถนัด จนก่อให้เกิดเป็นสมรรถนะได้”รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม.กล่าว


ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหารสถาบันพัฒนาคุณภาพวิขาการ(พว.)กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาต้องคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในด้านประชากร ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี รวมทั้งสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนทุกช่วงวัย จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดการเรียนรู้และรูปแบบการเรียนการสอน มาเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะแบบผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง (Active Learning) เพื่อให้สามารถนำหลักการไปสู่การเรียนรู้ การแก้ปัญหา การพัฒนานวัตกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดระดับคุณภาพชีวิต และสังคมดีขึ้น

ทั้งนี้การจัดประสบการณ์เรียนรู้ตามหลักการพหุปัญญา เพื่อให้ผู้เรียนถักทอ สร้างความรู้ในระดับหลักการด้วยตัวของผู้เรียนเอง ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps โดยมีขั้นตอนและสาระสำคัญดังนี้

• แสวงหาข้อมูลรอบด้านเพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้ (Gathering) ผู้เรียนเกิดการสังเกต หรือตั้งข้อสงสัยในปัญหาจากการกระตุ้นของครูผู้สอนผ่านกิจกรรมการเรียนการสอน เช่น การสร้างสถานการณ์เพื่อฝึกให้ผู้เรียนตั้งคำถามกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในชุมชน ทำให้ผู้เรียนต้องการหาคำตอบด้วยตัวเองด้วยการสืบค้นความรู้จากแหล่งข้อมูลรอบตัว

• คิด-วิเคราะห์-สรุปความรู้เพื่อวางแผนเตรียมปฏิบัติ (Processing) ผู้เรียนนำข้อมูลหรือองค์ความรู้ที่รวบรวมได้มาร่วมกันวิเคราะห์ ว่าจะสามารถนำไปแก้ปัญหาหรือสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร จากนั้นจึงจัดจำแนกข้อมูล และนำไปวางแผนการปฏิบัติ เช่น การคิดสร้างนวัตกรรมเพื่อนำไปแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชน

• ลงมือทำจริง แก้ปัญหาจริง เพื่อพัฒนาหาแนวทางที่ดีที่สุด (Applying 1) ผู้เรียนนำองค์ความรู้ที่ผ่านการวิเคราะห์และวางแผนแล้วไปปฏิบัติและลงมือทำ โดยจะเกิดการเรียนรู้จากการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการปฏิบัติจริง การสื่อสาร และการทำงานเป็นทีม เพื่อพัฒนาให้เกิดผลสำเร็จที่ดียิ่งขึ้นต่อไป

• สื่อสารและนำเสนอในรูปแบบที่หลากหลาย (Applying 2) ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจในองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานและการแก้ปัญหา จนสามารถสรุปออกมาเป็นหลักการ สื่อสารผ่านการนำเสนอในรูปแบบแผนภาพความคิด นำเสนอเป็นรายงาน การอภิปราย การบรรยาย หรือจัดทำเป็นสื่อต่างๆ

• สร้างคุณค่าให้ผลงาน ต่อยอดประโยชน์สู่สังคม (Self-Regulating) ผู้เรียนมีจิตสาธารณะและเห็นคุณค่าในผลงาน สามารถขยายผลหรือต่อยอดองค์ความรู้นั้น เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม หรือแก้ไขปัญหาสังคมในด้านต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาให้ตรงกับบริบทของแต่ละชุมชน

ดร.ศักดิ์สิน กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบ Active Learning คือ ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอนที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจในการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ มีสมรรถนะด้านการจัดการเรียนรู้ การออกแบบการเรียนรู้ รวมทั้งการจัดกิจกรรมต่างๆ ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่คงทนผ่านการทำกิจกรรมที่หลากหลาย มีส่วนร่วมในทุกกระบวนการเรียนรู้ เกิดความกระตือรือร้นที่จะใฝ่รู้ สามารถใช้องค์ความรู้ผลิตผลงานหรือสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต และสอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ได้

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments