จากกรณีที่ ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) หารือร่วมกับนายกและอุปนายกสภามหาวิทยาลัย 58 แห่ง เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะส่งผลต่อสถาบันศึกษาของรัฐที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดี และที่อยู่ระหว่างกระบวนการเสนอแต่งตั้งบุคคลที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติสภามหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)กาญจนบุรี ในการประชุมครั้งที่ 11/2551 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2551 ที่แต่งตั้งนายปัญญา การพานิช ซึ่งมีอายุเกิน 60 ปี เป็นผู้รักษาการแทนอธิการบดีมรภ.กาญจนบุรี โดยวินิจฉัยว่า เป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย โดยเสียงที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นว่า พ.ร.บ.ได้กำหนดให้อธิการบดีจะต้องพ้นจากตำแหน่งได้ในกรณีใดบ้าง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการมีอายุ 60 ปี ขณะเดียวกันคำสั่งศาลจะมีผลผูกพันเฉพาะกรณีเท่านั้น และ ดร.สุภัทร เตรียมเสนอ 4 แนวทางให้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ(ศธ.) พิจารณา ขณะที่ที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย(ทปสท.) เรียกร้องให้อธิการบดีที่อายุเกิน 60 ปี แสดงสปิริตลาออกจากตำแหน่งนั้น
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้รายงานผลการหารือดังกล่าวมาแล้ว โดยสรุปคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ผูกพันเฉพาะกรณี มรภ.กาญจบุรี ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้น คือ อธิการบดีที่อายุเกิน 60ปี และยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบัน จะดำเนินการอย่างไร สิ่งที่จะดำเนินการได้คือจะต้องมีโจทย์ยื่นฟ้อง อธิการบดีเหล่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ ศธ.ไม่อยากให้เกิดขึ้นเป็นหน้าที่ของสภาฯ จะต้องไปพิจารณาว่า ในเมื่อศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษากรณีมรภ.กาญจนบุรี เป็นบรรทัดฐานแล้ว จะดำเนินการอย่างไร ตรงนี้เป็นเรื่องในเชิงบริการหรือจะรอให้มีผู้ฟ้องร้องแล้วค่อยว่า ไปตามกฎหมาย ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสภาฯ ส่วนรายชื่อที่อยู่ระหว่างรอเสนอขึ้นโปรดเกล้าฯ ซึ่งเป็นอำนาจของ รมว.ศธ.โดยตรงนั้น ตนก็คงต้องกลั่นกรอง ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้วางบรรทัดฐานไว้แล้ว
“สกอ.ส่งข้อเสนอของกลุ่มสภาฯ 3 แนวทางมาให้ผมพิจารณาแล้ว ส่วนจะเป็นแนวทางใดบ้างนั้นยังบอกไม่ได้ แต่ทุกอย่างเป็นไปข้อกฎหมาย จะให้รัฐมนตรีว่าการศธ. สั่งการให้ไปไล่อธิการบดีที่อายุเกิน 60 ออก ก็คงไม่ได้ ผิดกฎหมาย ทำไม่ได้ จึงได้เปิดเวทีให้หารือกัน เพื่อพิจารณาทั้งข้อกฎหมาย และจริยธรรม ถึงไม่ผูกพัน แต่หลักกฎหมายเป็นไปในแนวทางนี้ ถ้าหากเราถูกฟ้องศาลก็คงตัดสินไปในแนวทางเดียวกัน จะดำเนินการอย่างไร แต่ทางสภาฯ ก็ยืนยันให้ดูเป็นกรณี ๆ ไป ”นพ.ธีระเกียรติกล่าวและว่า ส่วนขอเสนอที่ให้มีการออกแนวปฏิบัติหรือเกณฑ์กลาง เกี่ยวกับการสรรหาอธิการบดีขึ้นมานั้น ก็เหมือนกับการตัดเสื้อตัวเดียว และไม่สามารถไปทำลายคำตัดสินของศาล หรือลบล้างพ.ร.บ.ของแต่ละแห่งได้ เพราะฉะนั้นการออกเกณฑ์กลางจึงไม่ใช่ทางแก้ปัญหา ตนจึงย้ำตลอดเวลาว่า ให้ดำเนินการตามกฎหมายที่ศาลตัดสินมาแล้วเป็นบรรทัดฐาน ว่าถ้าเกิดการฟ้องกรณีเดียวกัน ก็จะโดนแบบเดียวกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อเสนอที่ให้ปรับแก้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 แก้ไข คำสั่งคสช.ที่ 39/2559 เรื่อง การจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา เนื่องจากคำสั่งดังกล่าว ไม่มีความชัดเจน ดังนั้นก็ต้องแก้ให้ชัด ว่า ผู้ที่อายุเกิน 60 ปี เป็นอธิการบดีได้หรือไม่ได้นั้น นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า ต้องถามว่า จะแก้ม.44 จะทำเพื่อใคร ในเมื่อยังมี 2 ฝ่าย ฝ่ายที่อยู่ในตำแหน่ง กับฝ่ายที่ต้องการตำแหน่ง ไม่ใช่ว่า อยากได้อะไร ก็ให้ม.44 จัดการ ไม่ใช่เรื่องง่ายแบบนั้น เพราะพอออกมาก็จะมีเสียงด่านายกฯ ด่ารัฐมนตรี อย่างไรก็ตามการสรรหาอธิการบดีจากนี้ ถ้ามหาวิทยาลัยยังเสนอชื่อผู้ที่อายุเกิน 60 ปี ขึ้นโปรดเกล้า ก็หมายความว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้ดูว่าศาลปกครองสูงตัดสินไว้ว่าอย่างไร สุดท้ายถ้าถูกฟ้อง ก็เป็นปัญหา ตรงนี้พูดในเรื่องของกฎหมาย แต่ถ้าพูดในหลักการ ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่จะปล่อยให้คนอายุน้อยกว่า 60 ปีขึ้นมาเป็นผู้นำ ซึ่งทั้งหมดก็เป็นเสียงเรียกร้อง จากชาวมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ของ รมว.ศธ.