เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ สภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นั้น ภาพรวมต้องรอความเห็นชอบจากวุฒิสภาก่อน แต่ก็เชื่อว่า การแก้ไขคำสั่ง คสช.จะไม่กระทบกับการทำงานของ ศธ.ในส่วนภูมิภาค เพราะแก้เฉพาะในส่วนการคืนอำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) มาเป็นอำนาจของเขตพื้นที่การศึกษา
ปลัด ศธ. กล่าวต่อไปว่า ส่วนตัวมองว่า การโยกอำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายให้เขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 245 เขตดำเนินการ อาจจะทำให้เกิดปัญหาวุ่นวายได้ โดยเฉพาะย้ายข้ามเขตหรือย้ายข้ามจังหวัด เพราะไม่สามารถบริหารภาพรวมของทั้งจังหวัดได้ ซึ่งเดิมการแต่งตั้งโยกย้ายทางเขตพื้นที่ฯ ทั้งเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) และ เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) จะจัดทำรายละเอียดมาหารือกับศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) เพื่อดูภาพรวมทั้งจังหวัดก่อนเสนอให้ กศจ.พิจารณา ดังนั้นหากแก้ตามที่สภาฯ เสนอ เขตพื้นที่ฯ ยังคงดำเนินการในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายเหมือนเดิม แต่ตัดงานในส่วนของ ศธจ. และ กศจ.ออกไปช่วงหนึ่ง อาจส่งผลกระทบต่อแผนพัฒนาจังหวัดในบางเรื่องได้ ตรงนี้เป็นจิ๊กซอว์ที่ต้องมีคำตอบว่าจะทำอย่างไร
“การแก้ปัญหานี้สามารถทำได้โดยเพิ่มงานดูภาพรวมการแต่ตั้งโยกย้ายให้ ศธจ. เท่ากับว่า เขตพื้นที่ฯ ยังคงทำงานเท่าเดิม มีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้าย แต่ ศธจ.อาจมีงานมากขึ้นเพราะต้องประสานกับแต่ละเขตพื้นที่ฯ เพื่อให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงานภาพรวมของทั้งจังหวัด ซึ่งต่างจากเดิมที่ให้เป็นอำนาจหน้าที่ แต่ครั้งนี้เป็นการขอความร่วมมือ ช่วยเป็นตัวตรวจสอบ สอบทานโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทำให้ไม่เกิดการทุจริต แต่หากไม่ดำเนินการตามนี้งานของศธจ. และ กศจ.จะน้อยลง เหลือเพียงงานวางแผนและการติดตามงาน ขณะที่ศึกษาธิการภาค (ศธภ.) ทำหน้าที่กำกับการจัดการศึกษาในส่วนภูมิภาคอยู่แล้ว จึงไม่กระทบอะไร ทั้งหมดอยู่ที่การวางแผน ซึ่งในส่วนของ ศธ. ยังไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ เพราะต้องรอให้ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาฯ ก่อน” ปลัด ศธ. กล่าว