เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มอบหมายให้ ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดศธ. ในฐานะรองประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและยุคบากรทางการศึกษา ของ ศธ. ทำบันทึกข้อความ เรื่อง แนวปฏิบัติการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญ จ่ายสวัสดิการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค. ) และการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา ในกรณีคู่สมรสถึงแก่ความตาย (ช.พ.ส.) ถึงทุกหน่วยงานในสังกัด ศธ. เพื่อขอความร่วมมือแจ้งให้หน่วยงานภายในของตนเองดำเนินการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญ เพื่อชำระหนี้เงินสวัสดิการ ช.พ.ค./ช.พ.ส. ตามแนวปฏิบัติที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ ของ ศธ.นำเสนอ
รมว.ศธ. กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาชิก ช.พ.ค.- ช.พ.ส. ต้องชำระค่าสมาชิกเป็นรายเดือน โดยสามารถเลือกชำระโดยตรง หรือชำระโดยหักจากเงินเดือน แต่เนื่องจากสมาชิกที่ขอรับสวัสดิการที่ชำระด้วยการหักจากเงินเดือนจำนวนมากต้องเสียสิทธิประโยชน์ไม่ได้รับเงินสงเคราะห์เมื่อขาดการชำระเกิน 3 เดือน เพราะเงินเดือนต้องถูกหักชำระหนี้เงินกู้อื่นๆ ก่อน รวมแล้วเกินกว่าร้อยละ 70 ส่งผลให้เสียสิทธิ ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือกรณีเสียชีวิต ซึ่งครอบครัวจะได้รับเงินช่วยเหลือรายละประมาณ 940,000 บาท ดังนั้น ศธ. จึงคิดว่า หากให้ความช่วยเหลือครูที่ขาดชำระ โดยให้หักเงินเดือนค่าสมาชิกช.พ.ค.-ช.พ.ส.ก่อนเป็นลำดับแรก จากนั้นค่อยหักเพื่อชำระเงินกู้อื่น ๆ ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ อีกทั้งในอนาคตยังสามารถใช้เงิน ช.พ.ค.-ช.พ.ส. ที่สมาชิกจะได้รับเมื่อเสียชีวิตมาค้ำประกันเงินกู้ได้ โดยไม่ต้องไปซื้อประกันเงินกู้เพิ่มเหมือนที่ผ่านมา
“ปัจจุบันการหักจ่ายสวัสดิการฌาปนกิจสงเคราะห์ ช.พ.ค./ช.พ.ส. ไม่สามารถหักเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญได้ตามกฎหมาย ทำให้ฌาปนกิจสงเคราะห์ ช.พ.ค./ช.พ.ส. ไม่สามารถใช้เป็นหลักประกันเงินกู้ได้ จึงเป็นภาระต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อประกันเงินกู้เพิ่ม ดังนั้น ศธ.จึงได้กำหนดแนวปฏิบัติการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญ จ่ายสวัสดิการฌาปนกิจสงเคราะห์ ช.พ.ค./ช.พ.ส.นี้ ซึ่งจะส่งผลให้ในอนาคตครูจะไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อประกันเงินกู้อีก” น.ส.ตรีนุช กล่าว
ด้าน ดร.สุภัทร กล่าวว่า ตนได้ส่งแนวปฏิบัติฯ ดังกล่าว ถึงทุกหน่วยงานในสังกัด ศธ.แล้ว โดยเน้นย้ำว่าการดำเนินนี้ต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ขอรับสวัสดิการ ช.พ.ค./ช.พ.ส. ทุกคน เบื้องต้นจะดำเนินการกับครูและบุคลากรทางการศึกษาลงทะเบียนเข้าสู่ขั้นตอนกระบวนการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ซึ่งระยะที่ 1 มีผู้ลงทะเบียนจำนวน 41,128 ราย ยอดหนี้รวม 58,835,199,322 บาท
สำหรับแนวปฏิบัติการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญ จ่ายสวัสดิการการฌาปนกิจ ช.พ.ค. /ช.พ.ส. มีดังนี้ 1.หักเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญ ณ ที่จ่ายของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เบิกจ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่ายประเภทงบบุคลากร หรือบำเหน็จบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 2.ให้หน่วยเบิกตรวจสอบข้อมูล การหัก ณ ที่จ่ายของเงิน ช.พ.ค./ช.พ.ส. กับสำนักงาน สกสค.จังหวัด 3.ให้หน่วยเบิกและสำนักงาน สกสค.จังหวัด ดำเนินการให้สมาชิก ช.พ.ค./ช.พ.ส.ทำหนังสือยินยอมให้หักเงินสงเคราะห์รายศพ ช.พ.ค./ช.พ.ส. จากหน่วยเบิก 4.สำนักงาน สกสค.จังหวัดส่งข้อมูลหนี้บุคคลที่ 3 รายงานเรียกเก็บ ช.พ.ค./ช.พ.ส.ให้หน่วยเบิกตามหนังสือยินยอม 5.ให้หักเงินสวัสดิการฌาปนกิจสงเคราะห์ ช.พ.ค./ช.พ.ส. ในกลุ่มแรกร่วมกับการหักเงิน ภาษีอากร เงินตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงาน กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ช.พ.ค./ช.พ.ส.สหกรณ์ และสวัสดิการอื่น รวมไม่เกินร้อยละ 70 ของเงินเดือน และ 6.กรณีการหักเงินชำระหนี้ตามข้อ 5 แล้วมีเงินเดือนเหลือไม่ถึงร้อยละ 30 ให้ส่วนราชการผู้เบิก สถานีแก้ไขปัญหาหนี้สินครูเขตพื้นที่การศึกษา และหน่วยงานทางการศึกษาดำเนินการให้ปรับโครงสร้างหนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีเงินเดือนเหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ 30