เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนนโยบาย “โครงการพาน้องกลับมาเรียน” ที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 35 จังหวัดพังงา โดยกล่าวว่าโครงการนี้รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ศธ.ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนอย่างเต็มที่ ด้วยแนวคิดที่ว่า “การศึกษาไทยต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ผ่านการบูรณาการระหว่างหน่วยงานทั้งในและนอกสังกัด ศธ. ในการค้นหาและติดตามเด็กตกหล่นและออกกลางคันให้มีโอกาสกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง ซึ่งที่จังหวัดพังงามีเด็กหลุดออกจากระบบ จำนวน 149 คน พบตัวแล้ว 127 คน และกลับมาเรียนแล้ว 64 คน ซึ่งถือเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกับจังหวัดได้ดี
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า จากการดำเนินโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” ในเฟสแรกตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 10 มิ.ย. 2565 พบว่า จากจำนวนนักเรียน นักศึกษา นักเรียนพิการ และคนพิการ ที่ตกหล่นและออกกลางคัน รวมจำนวน121,642 คน ในจำนวนนี้เป็นนักเรียน นักศึกษา กลุ่มปกติ ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) รวมทั้งสิ้น 67,129 คน พบตัวแล้ว52,760 คน ซึ่งในจำนวนที่พบตัวแล้วได้กลับเข้าระบบการศึกษา 31,446 คน ไม่กลับเข้าระบบ 21,314 คน อยู่ระหว่างการติดตาม 5,628 คน และติดตามแล้วไม่พบตัว8,741 คน ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มนักเรียนพิการ สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ(สศศ.) สพฐ. และอีกส่วนเป็นกลุ่มนักศึกษา กศน.อายุเกิน 18 ปี ที่เกินวัยการศึกษาภาคบังคับและมีความต้องการประกอบอาชีพ
“ ถึงแม้ว่าผลการติดตามตัวพบนักเรียนกลุ่มปกติเป็นจำนวนที่น่าพึงพอใจ แต่เมื่อดูตัวเลขการตัดสินใจไม่กลับเข้าสู่ระบบ ก็มีจำนวนถึง 21,314 คน โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กที่อยู่ในวัยการศึกษาภาคบังคับ หรือ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 5,625 คน ซึ่งศธ. จะเดินหน้าต่อพาน้องกลับมาเรียน เฟส 2 โดยเน้นช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาในวัยการศึกษาภาคบังคับที่ตามตัวพบแล้วแต่ยังไม่กลับเข้าสู่ระบบให้ได้กลับมาเรียนอีกครั้ง โดยตั้งเป้าหมายดำเนินการพากลับมาได้ 100% ภายในเดือนกันยายนนี้ รวมถึงเด็กกลุ่มอื่นที่ยังไม่กลับเข้าระบบและตามตัวไม่พบด้วย ขณะเดียวกันในกลุ่มเด็กที่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาแล้ว จะมีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนและป้องกันการหลุดจากระบบการศึกษาซ้ำ โดยโรงเรียนต้องรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล จำแนกกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มมีปัญหา เพื่อการดูแลช่วยเหลือตามสาเหตุ เช่น จัดหาทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีฐานะยากจน บิดามารดาเสียชีวิต หรือ กรณีเรียนรู้ช้าก็ปรับวิธีการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับระดับความสามารถ สอนซ่อมเสริม เป็นต้น ทั้งนี้ ดิฉันขอขอบคุณทุกภาคส่วน โดยเฉพาะครูและบุคลากรทางการศึกษา และบุคลากรของ ศธ. ทุกคน ที่ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันตามหาตัวนักเรียนนักศึกษาและส่งต่อให้ได้มีโอกาสกลับมาเรียน ตัวเลขการค้นพบนักเรียนนักศึกษากว่า 5 หมื่นคนนับเป็นผลความสำเร็จของการดำเนินงานพาน้องกลับมาเรียน” นางสาวตรีนุช กล่าว.