เวลา 09.00 น. วันที่ 6 มิถุนายน 2565 ที่ ห้องแกรนด์ บอลลูม โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 (การศึกษา 2030) ครั้งที่ 2 โดยทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า เศรษฐกิจดิจิทัล สังคมผู้สูงวัย และช่องว่างทางการเรียนรู้ เป็นแนวโน้มโลกที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาของภูมิภาค ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องจัดเตรียมวาระการศึกษาและสร้างโอกาส ในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้มาซึ่งความรู้และทักษะ ค่านิยมและทัศนคติ อันจะนำไปสู่การสร้างสังคมที่แข็งแกร่งและยั่งยืนต่อไป
นอกจากนี้ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคควรต้องวางมาตรการในการจัดการกับปัญหาที่เกิดจากวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางการศึกษาในแง่ของการลดโอกาสทางการศึกษาของกลุ่มผู้เรียน เยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีความเปราะบางมากที่สุด และให้มั่นใจว่าผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้อย่างต่อเนื่องในสภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัยและสุขภาวะที่ดี ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานได้อย่างมีประสิทธิภาพ บทบาทของครูจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมสุขภาพทางจิตใจ และความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียน ตลอดจนการจัดฝึกอบรมครูเพื่อให้มั่นใจว่าครูจะได้รับทักษะและองค์ความรู้ที่เหมาะสมต่อการจัดรูปแบบการเรียนรู้แบบผสมผสานแนวใหม่
“ขอชื่นชมความพยายามของยูเนสโกต่อการเสริมสร้างระบบการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองต่อสภาพการเรียนรู้ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดนิ่ง รวมทั้งการขับเคลื่อนทรัพยากรทางการศึกษาเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบการศึกษาทั่วโลก และช่วยเหลือเด็กทุกคนให้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษย์ขั้นพื้นฐานในเรื่องของสิทธิการเข้าถึงการศึกษา ซึ่งรวมถึงสิทธิทางโภชนาการและการดูแลสุขภาพ ทั้งนี้เชื่อมั่นว่า รัฐมนตรีและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านการศึกษาจะทำงานร่วมกัน และนำไปสู่การเจรจาที่เกิดผล อันจะนำไปสู่การดำเนินความร่วมมือทางการศึกษาในอนาคตต่อไป”
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า ในนามกระทรวงศึกษาธิการ รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานพิธีเปิดการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษา แห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 (การศึกษา 2030) ครั้งที่ 2 พระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านในด้านการศึกษาเป็นที่ยอมรับมาโดยตลอดทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ในฐานะที่ทรงเป็นทูตสันถวไมตรีของยูเนสโก ทรงอุทิศทั้งเวลาและความอุตสาหะต่อการพัฒนาการศึกษาและสวัสดิภาพของเด็ก ๆ ในพื้นที่ด้อยโอกาสและห่างไกลทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดิฉันมีความมุ่งมั่นในการน้อมนำแนวทางการจัดการศึกษาแบบองค์รวม ตลอดจนดำเนินการตามแนวพระราชดำริของพระองค์ท่านในด้านการศึกษาเพื่อให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงศึกษาธิการมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมฯ ร่วมกับยูเนสโก ยูนิเซฟ กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของญี่ปุ่น และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นในเวลาที่มีความเหมาะสมยิ่ง เมื่อทุกประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเห็นพ้องว่าเราต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ในช่วงที่โควิด-19 ทำให้การศึกษาหยุดชะงัก นอกจากนี้ยังจะเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในด้านการศึกษาในภูมิภาค และเพื่อสร้างความมั่นใจว่าระบบการศึกษาของเราจะได้รับการปรับรูปแบบเพื่อให้เข้ากับสภาวการณ์ในยุคหลังโควิด-19 และบรรลุเป้าหมายที่ 4 ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
“ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการรวมตัวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก นักการศึกษา นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และตัวแทนจากภาคีการศึกษาที่ได้มาผนึกกำลังพัฒนาการศึกษาในฐานะที่เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้โลกของเรามีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้นเพื่อทุกคน ในช่วงการประชุมระดับรัฐมนตรีนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมแบ่งปันความคิดเห็นและแสดงวิสัยทัศน์ว่า เราจะพลิกโฉมการศึกษาเพื่อเร่งรัดผลักดันการดำเนินงานสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 ในภูมิภาค ตลอดจนการฟื้นฟูการเรียนรู้และปรับปรุงผลการเรียนรู้สำหรับทุกคน ในการนี้ เราจะจัดทำแถลงการณ์กรุงเทพฯ ปี ค.ศ.2022 และจะนำเสนอผลลัพธ์ต่อคณะกรรมการระดับสูงว่าด้วยการขับเคลื่อนเป้าหมายที่ 4 ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในภายหลังในช่วงปีนี้ ในฐานะเจ้าภาพร่วมของการประชุมครั้งนี้ เชื่อว่าความร่วมมือของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและภาคีต่าง ๆ ที่ได้แสดงออกในระหว่างการประชุมครั้งนี้ จะเป็นพลังขับเคลื่อนที่เข้มแข็งในการพัฒนาการศึกษาเพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกคนในภูมิภาค”รมว.ศึกษาธิการกล่าว
H.E. Ms. Tamara Rastovac Siamashvili, Chairperson of the Executive Board of UNESCO กล่าวว่า ขณะที่เราก้าวพ้นจากวิกฤตโรคระบาดที่ทำให้โลกต้องหยุดชะงัก และเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ วิกฤตโรคระบาดได้แสดงให้เห็นว่าความท้าทายและความเปราะบางที่มีอยู่เดิมในระบบการศึกษาทั่วทั้งเอเชียแปซิฟิกและในภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยการศึกษายังคงเป็นรากฐานที่สำคัญของการฟื้นฟูทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ 2030 ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาด การประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2 (APREMC-II) เป็นการประชุมและกลไกระดับภูมิภาคที่สำคัญ เพื่อให้การศึกษา มีความสำคัญสูงสุดสำหรับประเทศสมาชิกเอเชียแปซิฟิกทั้งหมด
“ผลการประชุมฯ ซึ่งจัดขึ้นในสัปดาห์นี้ที่กรุงเทพฯ จะไม่เพียงแต่กำหนดแนวทางในแง่ของแรงผลักดันและความร่วมมือระดับภูมิภาคในการฟื้นฟูการเรียนรู้เท่านั้น แต่ยังนำไปสู่การประชุมก่อนการประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาของศึกษาของสหประชาชาติที่กำลังจะมีขึ้น ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส ในเดือนมิถุนายน รวมทั้งการประชุมสุดยอดฯ ณ นครนิวยอร์กในเดือนกันยายน ดิฉันรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ยูเนสโกยังคงมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการรวมตัวกัน รวมทั้งเป็นผู้นำความอุตสาหะในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ซึ่งมีส่วนช่วยในการระดมกำลังและความมุ่งมั่นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการศึกษาทั่วโลก”
Ms. Stefania Giannini, UNESCO Assistant Director-General for Education กล่าวว่า การที่เรามารวมตัวกันที่นี่ก็ด้วยความรู้สึกร่วมกันที่ต้องเผชิญกับผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งแม้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ได้ลงมือแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วด้วยวิธีการใหม่ ๆ เพื่อให้การเรียนรู้เดินหน้าไปได้อย่างต่อเนื่อง แต่การปิดโรงเรียนเป็นระยะเวลายาวนานตั้งแต่ 8 สัปดาห์ จนถึง 35 สัปดาห์ขึ้นไปทำให้เด็กและเยาวชนชายขอบที่มีความเปราะบางที่สุดต้องเผชิญกับความไม่เท่าเทียมมากกว่าเดิม การใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ ทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล กลายเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เด็กและเยาวชนถูกกีดกันจากการเรียนรู้ เด็กหลายล้านคนทั่วภูมิภาคมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้กลับไปเรียนอีก ซึ่งเราไม่สามารถปล่อยให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ เพราะความเสียหายที่จะเกิดขึ้นทั้งในระดับบุคคลและระดับสังคมนั้นสูงเกินไป วิกฤตครั้งนี้เป็นการเรียกร้องที่ชัดเจน เพื่อทำให้ระบบการศึกษาของเรามีความครอบคลุม ยืดหยุ่น และยั่งยืนมากขึ้น
“การศึกษาต้องได้รับความสำคัญสูงสุดในการฟื้นฟูและในทุกแผนพัฒนาตามหลักการสิทธิมนุษยชน
และการเป็นสาธารณะประโยชน์ของโลก โดยได้รับการสนับสนุนด้วยทรัพยากรที่เพียงพอ การประชุมนี้เป็นพื้นที่แบ่งปันบทเรียนที่ได้เรียนรู้จากวิธีการใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติโรคระบาด อีกทั้งยังเป็นการประชุมหารือเชิงนโยบาย เพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขและร่วมกันลงมือปฏิบัติ เป้าหมายคือไม่เพียงแต่เป็นการฟื้นฟูจากการเรียนรู้ที่สูญเสียไป แต่ยังเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการศึกษาเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนและเป็นธรรม
มากกว่าเดิมในภูมิภาคแห่งนี้ ทั้งนี้ จากรายงานของยูเนสโกเกี่ยวกับอนาคตทางการศึกษา ได้จัดทำกรอบเพื่อเรียกร้องให้สร้างข้อตกลงทางสังคมฉบับใหม่เพื่อการศึกษา เพื่อแก้ไขความไม่ยุติธรรมในอดีต และจัดทำแนวทางที่ครอบคลุมมากขึ้นสำหรับประชาชนและโลก”
Ms. Debora Comini, Director, UNICEF Regional Office for East Asia and the Pacific กล่าวว่า ตอนนี้เราล้วนทราบกันดีกว่าโรคระบาดใหญ่โควิด-19 ทำให้ระบบการศึกษาทั่วโลกต้องเผชิญกับการหยุดชะงักครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และยังทำให้วิกฤติการเรียนรู้ที่อยู่ในสภาพที่ย่ำแย่อยู่ก่อนหน้าแล้วทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังทำให้ความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษาที่มีอยู่เดิมแผ่ขยายไปทั่วเอเชีย-แปซิฟิก ดังนั้นเพื่อเป็นการรับมือกับความท้าทายเบื้องหน้าเหล่านี้ เราต้องลงมือทำเพื่อให้มั่นใจได้ว่าเด็กทุกคนจะได้รับการสนับสนุนที่จำเป็น เพื่อให้เด็ก ๆ ได้กลับไปเรียนได้อย่างปลอดภัยและชดเชยการเรียนรู้ที่สูญหายและถดถอยให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องเร่งรัดผลักดันการฟื้นฟูการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำในวงกว้างอย่างเร่งด่วน ยูนิเซฟ ยูเนสโกและธนาคารโลกได้ติดตามมาตรการต่าง ๆ ที่หลายประเทศได้มีการดำเนินการเพื่อบรรเทาปัญหาการเรียนรู้ถดถอยสูญเสียไป จากบทเรียนที่ปรากฏขึ้น เราเรียกร้องให้ทุกรัฐบาลในภูมิภาคและภาคีลงมือแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนดังนี้
– ส่งเสริมให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาในโรงเรียนและทำให้เด็ก ๆ ยังอยู่ในระบบการศึกษา
– ประเมินระดับการเรียนรู้
– ให้ความสำคัญกับการสอนความรู้พื้นฐาน
– เพิ่มการเรียนชดเชยและการเรียนเพิ่มเติมนอกเหนือจากสิ่งที่สูญเสียไป ตลอดจน
– พัฒนาสุขภาวะด้านจิตสังคมตลอดจนความเป็นอยู่ที่ดีเพื่อให้เด็กทุกคนพร้อมเรียน
“พวกเราภาคภูมิใจว่า ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีพื้นที่สำหรับความร่วมมือที่จะทำให้เด็ก ๆ กลับไปโรงเรียนได้อย่างปลอดภัย ฟื้นฟูการภาวะการเรียนรู้ถดถอย และแก้ไขวิกฤติการเรียนรู้ ขณะเดียวกันก็ปรารถนาที่จะพลิกโฉมทั้งการศึกษาและระบบให้มีความยืดหยุ่นและยั่งยืนในระยะยาว เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพ เราไม่อาจนั่งรอและปล่อยให้เด็กรุ่นหนึ่งพลาดการเรียนรู้และพัฒนาการอย่างเต็มที่ เราต้องลงมือทำเดี๋ยวนี้ และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ ยูนิเซฟมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วน ทั้งกระทรวงศึกษาธิการของประเทศต่าง ๆ ภาคีเพื่อการพัฒนา ภาคประชาสังคม เยาวชน ภาคเอกชน ตลอดจนนักวิชาการ ในการทำทุกอย่างเท่าที่เราจะทำได้เพื่อปกป้องเด็ก ๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่เปราะบางที่สุดและเด็กชายขอบ ไม่ให้เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอยมากไปกว่านี้ ตลอดจนช่วยให้เด็กและเยาวชนทุกคนได้บรรลุสิทธิที่จะเติบโตไปสู่อนาคต”
Mr. Shigeru Aoyagi, Director, UNESCO Asia and Pacific Regional Bureau for Education กล่าวว่า โรคระบาดใหญ่โควิด-19 ทำให้การศึกษาชะงักงันแบบไม่เคยเป็นมาก่อนในทุกส่วนของเอเชียและแปซิฟิก โรคระบาดใหญ่ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการจัดการศึกษา ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา การมีส่วนร่วมของนักเรียน สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียน ตลอดจนยังทำให้ความคืบหน้าของการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคก่อนปี 2019 โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 4 ถดถอยลงไปด้วย ขณะที่ผลกระทบของการเรียนรู้ถดถอยนั้นยังไม่รับการสำรวจอย่างสมบูรณ์ กรณีศึกษาในระดับประเทศจากในภูมิภาคที่มีอยู่แสดงให้เห็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของนักเรียนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำในการอ่านและการคำนวณ
“การประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 (การศึกษา 2030) ครั้งที่ 2 เป็นโอกาสสำคัญที่จัดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่คณะรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูง จาก 46 ประเทศสมาชิกและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแวดวงการศึกษาจากทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกได้มาให้คำมั่นร่วมกันที่จะดำเนินการมีความร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรมผ่าน “ถ้อยแถลงกรุงเทพฯ ปี พ.ศ. 2565” (Bangkok Statement 2022) ซึ่งจะได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการในวันพรุ่งนี้ ซึ่งจะประกอบด้วย “โร้ดแมป” หรือแผนการสำหรับภูมิภาค เพื่อการสร้างและการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาที่กำลังอ่อนแอขึ้นใหม่”