เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2565 ที่ โรงเรียนอนุบาลศรีวัฒนาวิทยา จังหวัดสระแก้ว ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)ได้กล่าวในพุธเช้าข่าว สพฐ.ถึงการขับเคลื่อนนโยบายความปลอดภัยในสถานศึกษา ว่า จากที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีเป้าหมายว่าการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 นั้น อยากให้นักเรียน และทุกคนมาโรงเรียนอย่างมีความสุข โดยขอความร่วมมือให้โรงเรียนเตรียมการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 หลังจากที่เปิดภาคเรียนมา 2 สัปดาห์แล้ว พบว่าโรงเรียน ครู นักเรียน และผู้ปกครอง ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด แม้จะมีบางโรงเรียนที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 แต่โรงเรียนเหล่านั้นก็สามารถปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุได้เป็นอย่างดี ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเราสามารถอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้แล้ว อย่างไรก็ตาม จากการการเปิดภาคเรียนมาได้ 2 สัปดาห์ เราจะเห็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของนักเรียน เช่น น้องโบนัส เด็กหญิงอายุ 14 ปี ซึ่งเป็นนักเรียนของโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จังหวัดพัทลุง ผูกคอเสียชีวิต หรือกรณีนักเรียนหญิงชั้น ม.2 โรงเรียนมัธยมชื่อดังแห่งหนึ่งในอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ตกลงมาจากอาคารเรียนชั้น 8 จนเสียชีวิต นั้น เรื่องนี้เราต้องนำเรื่องดังกล่าวมาถอดบทเรียน จะเห็นว่ากว่า 2 ปีที่ผ่านมา เราจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ ทำให้นักเรียนไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กัน ดังนั้น ผู้อำนวยการโรงเรียน และครูที่ปรึกษา ต้องร่วมกันหาทางให้นักเรียนมีความรัก ผูกพันธ์กัน เพื่อให้นักเรียนได้เรียนและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ขอให้ทุกคนตระหนักและทำความเข้าใจเรื่องความปลอดภัยของนักเรียน เมื่อเรากลับมาจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไซต์แล้ว เราต้องปรับโรงเรียนเป็นบ้าน ปรับครูให้เป็นพ่อแม่คนที่สองให้กับนักเรียนให้ได้ ซึ่งตนอยากให้การเปิดเรียนใน 3 เดือนแรก โรงเรียนควรเน้นเรื่องการปรับตัวของนักเรียนเป็นเรื่องแรก ก่อนที่จะมาเน้นเรื่องของวิชาการ ถ้าเราทำให้เด็กรักครู และครูรักเด็กได้ นักเรียนจะมาโรงเรียนอย่างมีความสุข ส่วนการจัดการเรียนการสอน ตนไม่ได้คาดหวังให้ครูทุกคนสอนเต็มเวลา สอนเต็มตามหลักสูตร แต่อยากให้ครูประเมินนักเรียนเป็นรายบุคคลว่า นักเรียนมีความพร้อมระดับไหน จะเติมเต็มอย่างไร โดยให้นักเรียนได้เรียนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้อยากให้โรงเรียนทุกแห่งเร่งรวบรวมข้อมูล ว่าในพื้นที่ของตนมีภัยอะไรบ้างที่อาจจะมาสู่นักเรียนได้ และจะมีมาตรการแผนเผชิญเหตุอย่างไร