เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า สัปดาห์นี้ ศธ.ไม่มีเรื่องนำเสนอให้ ครม.พิจารณา แต่ในการประชุมสัปดาห์หน้า ตนจะเสนอโครงการ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” ต่อที่ประชุม ครม. เพื่อขอให้พิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อการขับเคลื่อนโครงการให้มีความต่อเนื่อง เพราะโครงการดังกล่าวเป็นโครงการสำคัญ ที่สร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชนกลุ่มที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา โดยงบดังกล่าวจะนำมาบริหารจัดการในด้านต่างๆ เช่น สร้างและปรับปรุงอาคารสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นหอพัก อาคารเรียน รวมถึงค่าอาหารของผู้เรียน เป็นต้น
รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า ก่อนการประชุมครม. ตนได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนบ้านคลองเกลือ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า ซึ่งพบว่าครูมีความตั้งใจในการจัดการเรียนการสอน และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 อย่างเคร่งครัด นักเรียนและครูปฏิบัติตามมาตการที่กำหนดทำให้สามารถอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามโรงเรียนดังกล่าวเป็นโรงเรียนประถมศึกษา มีเด็กเล็กจำนวนมาก ซึ่งเด็กเหล่านี้จะมีปัญหาเรื่องภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ โดยเฉพาะการอ่านออกเขียนได้
“ได้เน้นย้ำกับครูว่าการจัดการเรียนการสอนในช่วงนี้ ขอให้เน้นเรื่องการเติมสมรรถนะและความรู้กับนักเรียนก่อน โดยส่งเสริมให้เด็กมีนิสัยรักการอ่าน ไม่ใช่ต้องอ่านเก่ง ทั้งนี้ไม่อยากให้โรงเรียนบังคับหรือสร้างความเครียดให้เด็กอ่านหนังสือแล้วต้องมาย่อความ แต่อยากให้เด็กได้อ่านในเรื่องที่ชอบ เพื่อกระตุ้นให้เด็กเกิดความรู้สึกรักการอ่าน และให้เด็กคุ้นเคยกับกระบวนการอ่านออกเขียนได้ก่อน เช่น อาจจะให้เด็กเลือกหนังสือไปอ่านที่บ้าน หรือให้เด็กอ่านหนังสือที่ชอบวันละ 10-15 นาที เป็นต้น” น.ส.ตรีนุช กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรรีพรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติว่า จะคว่ำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 รมว.ศธ. กล่าวว่า งบประมาณถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงต่างๆ อย่างไรก็ตาม ศธ.พร้อมที่จะชี้แจงถึงความจำเป็นถึงการใช้งบในการพัฒนาการศึกษาในด้านต่าง ๆ เชื่อว่าไม่น่าจะติดอะไร เพราะที่ผ่านมาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เข้าใจในการทำงานของศธ. ที่ต้องดูแลการศึกษาในหลายมิติ อีกทั้งงบประมาณที่วางไว้นั้น จะนำมาใช้พัฒนาเด็กในหลาย ๆ มิติ ซึ่งเราต้องเผชิญทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 สถานการณ์ที่เด็กอยู่ในภาวะเรียนรู้ถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss)