ผศ.ดร.ณุศณี มีแก้วกุญชร คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ ตนและทีมวิทยากรในโครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น : กิจกรรมโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น หรือ University as Marketplace ได้ลงพื้นที่ชุมชนในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายการให้บริการของคณะวิทยาการจัดการที่จะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ ซึ่งพบว่าผู้ประกอบการมีปัญหาหลากหลาย และปัญหาที่ชุมชนต้องการให้ช่วยหลัก ๆ คือการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะในปี 2556 ทางสำนักงานพัฒนาชุมชน ได้เปิดรับสมัครผู้ประกอบการ OTOP เข้าสู่การคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ปี พ.ศ. 2565 (OTOP Product Champion : OPC) ระดับจังหวัด เพื่อจัดระดับผลิตภัณฑ์ (Product Level) ที่จะนำไปสู่การพัฒนา (Product Development) ระดับประเทศ จัดระบบฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์ (Profile) ที่จะใช้ในการทำงานเชิงบูรณาการของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์และเสริมสร้างคุณค่าของผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับแก่บุคคลทั่วไปจนสามารถใช้เป็นแหล่งสร้างรายได้และความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน
ผศ.ดร.ณุศณี กล่าวต่อไปว่า ในปีนี้ผู้ประกอบการในชุมชนจังหวัดสมุทรสาคร ที่ทางคณะวิทยาการจัดการ มบส.เข้าไปช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ได้ส่งผลิตภัณฑ์เข้ารับการคัดสรร จำนวน 12 ผลิตภัณฑ์ใน 5 วิสาหกิจชุมชน คือวิสาหกิจชุมชน เรือจำลองบางหญ้าแพรก 3 ผลิตภัณฑ์ได้แก่ 1. เรือประมงจำลองบางหญ้าแพรก 2. เรือมหาสมบัติและ 3. กังหันลมนาเกลือ 2.วิสาหกิจชุมชนกลิ่นไอตาล 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1. น้ำตาลปึก 2 .น้ำตาลสด และ 3. น้ำตาลมะพร้าวชนิดเหลว 3. วิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารทะเลบ้านกระซ้าขาว 2 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1. น้ำปลาหวาน และ 2. เคยปรุงรสอบแห้ง4. วิสาหกิจชุมชนบ้านเห็ดขวัญวัลย์ฟาร์ม 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1. น้ำพริกเห็ดรสปลาทูน่า 2. บิสกิตผักโขมและ3. ลูกชิ้นเห็ดผสมออกไก่ และ 5.วิสาหกิจชุมชนสวนปาณิสรา 1 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1. กระเป๋าผ้ามัดย้อมใบฝรั่ง และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาผลการคัดสรรผลิตภัณฑ์อยู่ ถ้าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวผ่านการคัดสรร 5 ดาวจะทำให้ขายได้มากขึ้นและส่งขายต่างประเทศได้ด้วย
ผศ.ดร.ณุศณี กล่าวต่อว่า คณะวิทยาการจัดการ ได้ลงพื้นที่ชุมชนในจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้แก่ผู้ประกอบการมามากกว่า 3 ปีแล้ว และทำงานร่วมกับชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยทางคณะได้เข้าไปให้ความรู้ด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัย การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้น่าสนใจ ดึงอัตลักษณ์ ความโดดเด่นของชุมชนเข้ามาผสมผสาน เพื่อเป็นจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ในการดึงดูดลูกค้า และพยายามทำให้ผู้ประกอบการสามารถขายสินค้าได้ปริมาณมากขึ้น และมีกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้น ไม่เฉพาะในชุมชมหรือในจังหวัดเท่านั้น รวมทั้งให้ความรู้ผู้ประกอบการในการทำช่องทางการตลาด โดยเฉพาะการขายออนไลน์ถือว่ามาแรงมาก และในปีนี้ทางมหาวิทยาลัยยังได้ตั้งเป้าหมายทำความร่วมมือกับบริษัทขายออนไลน์ เพื่อจะนำสินค้าของชุมชนมาวางขายในระบบออนไลน์ด้วย อย่างไรก็ตามชุมชนต่าง ๆที่ทางคณะเข้าไปช่วยต่างก็พอใจ เพราะสามารถนำความรู้ไปใช้ประกอบอาชีพและมีรายได้มากขึ้นด้วย
“ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ทางคณะเข้าไปช่วยพัฒนาและออกแบบให้มีความทันสมัย และโดดเด่น เช่น “เรือประมงจำลองบางหญ้าแพรก “ ที่ผู้ประกอบการจะนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาแกะสลักไม้เป็นเรือจำลอง มีทั้งเรือประมงอวนลาก เรือประมงอวนล้อมจับ โดยเข้าไปช่วยออกแบบบรรจุภัณฑ์ จากเดิมจะเอาแก้วมาครอบผลิตภัณฑ์ ทำให้ผลิตภัณฑ์ไม่สามารถเป็นสินค้าส่งออกได้ และมีปัญหาด้านการขนส่ง เราจึงขายไอเดีย ให้นำความถนัดในการแกะสลักของชาวบ้านและวัสดุที่มีในพื้นที่มาใช้ เช่น นำไม้มาแกะสลักเป็นกล่อง เพื่อใส่ผลิตภัณฑ์ ทำให้ดูสวยงาม และหมดปัญหาเรื่องการขนส่ง นอกจากนี้มี”เรือมหาสมบัติ “ที่ทางคณะแนะนำการออกแบบลวดลายบนเรือ โดยให้ดึงสัญญาลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความเป็นสมุทรสาครมาใส่ด้วย เช่น นำอักษร” ป.”มาติดเป็นโลโก้ ซึ่งมาจากคำว่า “ประมง” มี“ดอกพญาสัตบรรณ” มาประกอบเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดสมุทรสาคร และ”ดอกหญ้าแพรก” สื่อถึงชุมชนบางหญ้าแพรกด้วย ที่สำคัญยังมีการประยุกต์เรือประมงเป็นเรือมหาสมบัติ สามารถนำไปใช้งานได้เอนกประสงค์ โดยเรือดังกล่าวสามารถเปิดดาดฟ้าได้ เพื่อใช้ใส่อาหารและนำไปเสิร์ฟเป็นอาหารว่างในงานต่าง ๆได้ด้วย หรือนำไปใส่เครื่องหอมต่าง ๆก็ได้ อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ทำให้ผลิตภัณฑ์ดูทันสมัย น่าสนใจมาก ดูกิ๊บเก๋มาก และนอกจากจะเป็นของที่ระลึก เอาไว้โชว์แล้วยังนำมาใช้ประโยชน์อื่น ๆได้คุ้มค่าจริงๆ เชื่อว่าผลิตภัณฑ์นี้จะทำให้มีลูกค้าเพิ่ม หรือกลุ่มเป้าหมายใหญ่ๆมากขึ้น เช่น โรงแรมหรู หรือชาวต่างชาติ” ผศ.ดร.ณุศณี กล่าว.