เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 ณ ห้องโถงตึกอำนวยการวิทยาลัยเพาะช่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ มีพิธีเปิดการประกวดศิลปะปูนปั้นแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 20 โดยมี นายประทีป เลี่ยวไพรัตน์ ประธานกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) เป็นประธาน โดย รศ.ดร.อุดมวิทย์ ไชยสกุลเกียรติอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)รัตนโกสินทร์ กล่าวต้อนรับและ ผศ.บรรลุ วิริยาภรณ์ประภาส ผู้อำนวยการวิทยาลัยเพาะช่าง กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดการประกวดศิลปะปูนปั้นแห่งประเทศไทยครั้งที่ 20
ผศ.ประนอม ตั้งปรีชาพาณิชย์ รองอธิการบดี มทร.รัตนโกสินทร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนการสอน การวิจัยการบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ทั้งสายวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ควบคู่กันไปอย่างบูรณาการให้เกิดประโยชน์กับผู้รับการศึกษาและการสังคมไปพร้อม ๆกัน ในด้านศิลปวัฒนธรรมมีวิทยาลัยเพาะช่างที่เป็นแกนหลักเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ทำนุงานศิลปวัฒนธรรมของไทยให้คงอยู่สืบทอดต่อชนรุ่นหลัง เป็นมรดกของชนชาติไทย ทั้งที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนก็คือการจัดการประกวดศิลปะปูนปั้น ที่มีการจัดกันมาอย่างต่อเนื่องทุก ๆ ปี จนกระทั่งเมื่อราวต้นปี 2563 ได้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนา ไวรัส (covid-19) ทำให้ต้องมีการเลื่อนเวลาการแข่งขันศิลปะปูนปั้นครั้งที่ 20 เป็นระยะเวลากว่า 2 ปี เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการความปลอดภัยของภาครัฐ เมื่อวิกฤตของโรคระบาดได้บรรเทาลง ผู้คนสามารถใช้ชีวิตได้ค่อนข้างปกติ ในการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ แบบ new normal ภายใต้มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคติดต่อ แลครั้งนี้เมื่อได้เห็นว่าถึงเวลาที่เหมาะสม ทางคณะกรรมการจัดการประกวดศิลปะปูนปั้นแห่งประเทศไทยจึงได้ดำเนินการต่อไป
ด้าน ผศ.บรรลุ วิริยาภรณ์ประภาส ผู้อำนวยการวิทยาลัยเพาะช่าง กล่าวว่า การจัดโครงการการประกวดศิลปะปูนปั้นแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 20 ประกอบด้วยกิจกรรม 5 โครงการ ได้แก่
1 การสัมมนาวิชาการและการทัศนศึกษาศิลปะ 2 การแข่งขันประกวดศิลปะปูนปั้น 3 การจัดแสดงนิทรรศการ
4 การประชุมเชิงปฏิบัติการ workshop กับประติมากรปูนปั้นยอดเยี่ยม 5 การจัดหนังสือแบบอย่างลวดลายในพุทธศิลป์แห่งสยามประเทศ ตอน อยุธยาตอนหลัง ซึ่งการแข่งขันศิลปะปูนปั้นแห่งประเทศไทยครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ต่อเนื่องจากการสัมมนาทางวิชาการและการทัศนศึกษา เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้เข้าประกวดศิลปะปูนปั้น อันเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์ สืบสานและพัฒนางานศิลปะปูนปั้น โดย ปีนี้ได้จัดการประกวดมีทั้งสิ้น 3 ประเภท คือ 1) ประเภทผลงานสำเร็จรูป หัวข้อประกวด “คู่พระ – นางในวรรณคดี” มีผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 20 ผลงาน 2) ประกวดการปั้นปูนสด หัวข้อประกวด เรื่อง “รามาวตาร” มีผู้เข้าประกวดทั้งสิ้น 27 คน และ 3) ประเภทปั้นปูนสำเร็จรูปปูน TPI ระดับประชาชน หัวข้อการประกวดเรื่อง “สืบสานรักษา ต่อยอด วิถีไทย” มีผู้เข้าประกวดทั้งสิ้น 21 คน , ระดับเยาวชนประกวดในหัวข้อ“ตามรอยครูช่างสมัยอยุธยา” มีผู้เข้าประกวด 25 คน