เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2565 ที่ห้องประชุม โรงแรม เอ็ม เจ เดอะมาเจสติค สกลนครจังหวัดสกลนคร คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. … ได้จัดการสัมมนา รับฟังความเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. … โดยมี ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมช.ศึกษาธิการ)ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ.. เป็นประธานเปิดการสัมมนา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างวันที่ 14-15 พฤษภาคม 2565 คณะกรรมาธิการฯได้ลงพื้นที่จังหวัดนครพม และสกลนครศึกษาดูงานการจัดการศึกษารูปแบบต่างๆ ของ กศน.ในพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ….จากประชาชนและเครือข่ายในพื้นที่เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. … โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ที่คณะกรรมาธิการฯลงพื้นที่รับฟังความเห็นในภูมิภาค
โดย ดร.กนกวรรณ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ทำให้เห็นภาพรวมว่าภาคีเครือข่ายให้ความสนใจการจัดการศึกษาร่วมกับกศน.ในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่ายโรงเรียนผู้สูงอายุโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการที่มีวัดและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เป็นภาพการทำงานแบบบูรณาการอย่างแท้จริงทโดยการรับฟังความเห็นในพื้นที่และจากเครือข่ายชุมชนทุกภาคส่วนจะเป็นประโยชน์อย่างสูงสุดต่อร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ…. เพื่อให้เป็นกฎหมายการจัดการศึกษาสำหรับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายอย่างสมบูรณ์รอบด้านที่สุด
“ทั้งนี้ กรรมาธิการฯตั้งเป้าว่าจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ….ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายนนี้ โดยจะมีการตั้งคณะอนุกรรมมาธิการฯเพื่อพิจารณาในรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.ภายในสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตาม ประชาชน ชุมชน เครือข่าย ยังสามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ…. ได้ทาง เพจ‘ครูโอ๊ะ ชวนระดมความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ….’ เพื่อนำมาประกอบการจัดทำร่างพ.ร.บ.ต่อไป”รมช.ศึกษาธิการกล่าว
นางจุรีรัตน์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า จากที่คณะกรรมาธิการฯลงพื้นที่น่าจะได้เห็นภาพการมีส่วนร่วมของเครือข่ายในการจัดการศึกษาที่หลากหลายอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี2565 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยนักเรียนว่า ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด19 เด็กๆ เรียนหนังสืออยู่บ้านอาจจะได้ผลไม่เต็มที่ จึงทรงมอบแนวพระราชดำริให้สภากาชาดไทยมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา โดยไม่เป็นการก้าวก่ายภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการ แต่จะช่วยสนับสนุนอุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอนเพื่อเติมเต็มให้เด็กๆ ทางสภากาชาดไทยจึงมอบให้เหล่ากาชาดจังหวัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพการเรียนการสอนการอ่านภาษาไทยโดยมีครูและบุคลากรทางการศึกษาช่วยออกแบบพัฒนาเด็กที่ตกเกณฑ์ทักษะภาษาไทยด้านต่างๆ ซึ่งจังหวัดสกลนครได้มีโอกาสเป็นหนึ่งในสองจังหวัดนำร่องพัฒนาศักยภาพนักเรียน ก็ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจาก กศน. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และ คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดที่จะขับเคลื่อนภารกิจต่อไป จะเห็นได้ว่านี่คือตัวอย่างการทำงานของเครือข่ายการศึกษาในจังหวัด ซึ่งยังมีอีกหลายภาคส่วนรวมถึงพี่น้องประชาชนอีกจำนวนมากที่ยินดีร่วมเป็นเครือข่ายการศึกษาในการพัฒนาเด็กและประชาชนต่อไป