ตามที่ ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงหลักสูตรที่ใช้ในปัจจุบันว่า คือ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง 2560) ยังไม่มีการเปลี่ยนหลักสูตร แต่ให้มีการปรับปรุงทดลองใช้ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัด คือ ระยอง ศรีสะเกษ เชียงใหม่ กาญจนบุรี สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส โดยพัฒนาเพิ่มเติมเนื้อหาสาระการเรียนรู้ ทักษะ เจตคติ ค่านิยม คุณลักษณะและสมรรถนะที่เหมาะสม และสอดคล้องกับบริบทของชุมชน ท้องถิ่น มาเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ของแต่ละสถานศึกษาที่มีความแตกต่างกัน แต่ทั้งนี้ยังคงมีสาระสำคัญด้านมาตรฐานการเรียนรู้ สาระการเรียนรู้ ทักษะ เจตคติ ค่านิยม คุณลักษณะ และสมรรถนะของผู้เรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง 2560) ไว้อย่างครบถ้วน ไม่ขาดหาย ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ทั่วไปยังใช้หลักสูตรปัจจุบัน ยังไม่สมควรเปลี่ยนแปลงเพราะจะกระทบกับการจัดพิมพ์ตำรา ซึ่งจะเป็นภาระของครู ผู้ปกครองและนักเรียนในยามที่เศรษฐกิจดังเช่นปัจจุบัน ถ้าเปลี่ยนหลักสูตรก็ต้องซื้อตำราใหม่ ครูก็ต้องอบรม ซึ่งจะเป็นภาระเพิ่มขึ้น จึงยังไม่ประสงค์ให้เกิดภาระเหล่านี้เกิดขึ้นในขณะนี้ และเรื่องนี้ได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)รวมถึงกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา แล้ว ก็เห็นพ้องกันและได้นำไปเรียนนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกฯก็เห็นชอบว่าไม่ควรมีหลักสูตรใหม่ในตอนนี้ นั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ด กพฐ.คนหนึ่ง กล่าวว่า จากที่ผมอ่านข่าวที่ท่านรองนายกรัฐมนตรี ศ.กิตติคุณ ดร. วิษณุ เครืองาม กล่าวถึงการไม่เปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน จากหลักสูตรเดิม เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่เป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ เมื่ออ่านแล้วทำความเข้าใจ จะรู้ว่า ท่านนายกฯ และรองนายกฯ ไม่ได้สั่งห้าม ไม่ให้มีหลักสูตรใหม่ (หลักสูตรฐานสมรรถนะ) แต่หลักสูตรดังกล่าว ยังอยู่ในขั้นตอนของการทดลองนำร่องในจังหวัดพื้นที่นวัตกรรม 8 จังหวัด เท่านั้น เพื่อนำผลนั้นมาดูว่า ดีหรือไม่ดีอย่างไร แล้วผลที่เกิดกับนักเรียนเป็นอย่างไร ถ้าเป็นผมเอง ส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนใช้หลักสูตรใหม่ แต่ยังไม่มีผลการใช้รองรับว่าดีหรือไม่ดี ตัวผมเองก็รู้สึกไม่มั่นใจในคุณภาพของหลักสูตร และไม่มั่นใจว่าจะเกิดสมรรถนะได้จริงรึเปล่า
ส่วนที่ท่านรองฯ วิษณุ บอกว่าไม่อยากให้เรียกหลักสูตรฐานสมรรถนะ อาจจะเป็นเพราะว่า คำว่าฐานสมรรถนะ ไม่น่าจะนำมาเป็นชื่อเรียกหลักสูตร ทั้งๆ ที่หลักสูตรเดิม ก็มีสมรรถนะ 5 สมรรถนะสำคัญอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่เรียกว่า “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” ทั้งนี้ท่านรองฯ วิษณุ ยังสนับสนุนว่า หลักสูตรเดิม ครูมีความคุ้นเคยอยู่แล้ว ไม่ต้องปรับเปลี่ยนตั้งต้นใหม่ เพราะใกล้เปิดภาคเรียนแล้ว จะทำให้ครูสับสน เพียงแค่ทำให้ถึงสมรรถนะด้วยการปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน เป็น Active Learning เพิ่มช่วงเวลา สถานการณ์ และพื้นที่ให้นักเรียนได้แสดงออกถึงการใช้ทั้งความรู้ ทักษะกระบวนการ และคุณลักษณะ มากขึ้น ก็จะทำให้ถึงสมรรถนะได้ไม่ยาก