ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่า ปัจจุบันได้มีการกำหนดให้โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย (องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร) ให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง 2560) ซึ่งได้กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ ความรู้ ทักษะ เจตคติ คุณลักษณะ และสมรรถนะไว้อย่างสมบูรณ์ เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และผลงานจากการเรียนรู้ที่มีคุณค่า โดยให้เพิ่มพูนศักยภาพในการจัดกระบวนการเรียนรู้ แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ และการวัดผลประเมินผลเพื่อการพัฒนาผู้เรียนให้เหมาะสม สอดคล้อง ตอบสนองต่อหลักสูตรสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง 2560) โดยให้ยึดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 258 จ (4) ซึ่งนำไปสู่การกำหนดแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ฉบับปรับปรุง 2564)
ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ กล่าวต่อไปว่า หลักสูตรที่ใช้คือหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง 2560)โดยจะใช้หลักสูตรนี้ต่อไปจนกว่าจะเห็นสมควรให้มีการปรับปรุง ดังนั้นจะไม่มีการเปลี่ยนหลักสูตร แต่หากมีการปรับปรุงได้ในบางจุดโดยเฉพาะในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัด คือ ระยอง ศรีสะเกษ เชียงใหม่ กาญจนบุรี สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งอนุญาตให้นำหลักสูตรไปต่อยอด สามารถพัฒนาเพิ่มเติมเนื้อหาสาระการเรียนรู้ ทักษะ เจตคติ ค่านิยม คุณลักษณะและสมรรถนะที่เหมาะสม และสอดคล้องกับบริบทของชุมชน ท้องถิ่น มาเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ของแต่ละสถานศึกษาที่มีความแตกต่างกัน โดยทั้งนี้ยังคงมีสาระสำคัญด้านมาตรฐานการเรียนรู้ สาระการเรียนรู้ ทักษะ เจตคติ ค่านิยม คุณลักษณะ และสมรรถนะของผู้เรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง 2560) ไว้อย่างครบถ้วน ไม่ขาดหาย ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ทั่วไปยังใช้หลักสูตรปัจจุบัน ยังไม่สมควรเปลี่ยนแปลงเพราะจะกระทบกับการจัดพิมพ์ตำรา ซึ่งจะเป็นภาระของครู ผู้ปกครองและนักเรียนในยามที่เศรษฐกิจดังเช่นปัจจุบัน ถ้าเปลี่ยนหลักสูตรก็ต้องซื้อตำราใหม่ ครูก็ต้องอบรม ซึ่งจะเป็นภาระเพิ่มขึ้น จึงยังไม่ประสงค์ให้เกิดภาระเหล่านี้เกิดขึ้นในขณะนี้
“โดยส่วนตัวไม่อยากให้เรียกหลักสูตรฐานสมรรถนะ ให้เรียกชื่อเดิม เพราะคำว่าฐานสมรรถนะผมไม่รู้จัก ไม่รู้ความหมาย และที่สำคัญสิ่งที่ได้คุยกันไว้ก็คือต้องมีการปรับวิธีจัดการเรียนการสอนโดยนำวิธีการเรียนแบบ Active Learning เข้ามาให้มาก แล้วให้ครูและนักเรียนช่วยกันคิดออกมาเป็นนวัตกรรม ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ ก็เคยจัดแสดงนวัตกรรมเหล่านี้มาแล้ว หากไประดมหามาก็จะมีหลายหมื่นชิ้น ซึ่งนั่นก็คือ การปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง ซึ่งเรื่องนี้ได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)รวมถึงกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา แล้ว ก็เห็นพ้องกันและได้นำไปเรียนนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกฯก็เห็นชอบว่าไม่ควรมีหลักสูตรใหม่ในตอนนี้”รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
อยากให้มีความชัดเจนครับ เพราะโรงเรียนที่อาสาทดลองใช้ได้ทุ่มเท เสียสละเวลา ในการจัดทำ โดยใช้เวลามิใช่น้อย ๆ ในการทดลองออกแบบ จัดทำ ทดลองใช้ ในรูปแบบการวิจัย ร่วมกับสำนักวิชาการ ฯ ทั้งเวลาอบรมของครู เวลาจัดทำหลักสูตร ปรับตารางสอน ปรับไปเปลี่ยนมา แม้แต่จำนวนสมรรถนะหลักก็เปลี่ยนแปลง ยุบสาระการเรียนรู้ ส่งหลักสูตรพิจารณา แก้ไข ปรับใหม่ ซ้ำไปเปลี่ยนมา ท้ายที่สุดการประเมินผลให้อิงหลักสูตรเดิม เพราะขาดกฎหมายรองรับ เมื่อสิ่งที่จะเดินไปไม่ชัดเจน โรงเรียนนำร่องก็รู้สึกอ้างว้างอยู่กลางทะเล ครับ