นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการโดยการนำของ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ตระหนักในเรื่องการเตรียมพร้อมที่จะยกระดับการพัฒนาและผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาในเรื่องรถที่ปลดปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ หรือZero Emission Vehicle (ZEV) ให้มีปริมาณเพียงพอ และมีคุณภาพรองรับนโยบายของรัฐบาลในการเดินหน้าตอบรับกับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยได้เร่งพัฒนาทักษะกำลังแรงงานอาชีวศึกษา เพื่อรองรับและตอบโจทย์การเป็นกำลังคนอาชีวศึกษาคุณภาพสูงในตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รองรับระบบนิเวศ (Eco system) ในอนาคต
ด้าน ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.)กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)ได้ส่งเสริมให้สถานศึกษาทุกแห่งได้ คิดค้นและสร้างนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เช่น ระบบควบคุม ระบบการขับเคลื่อน รวมถึงการพัฒนาในการดัดแปลงรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อเป็นต้นแบบ และให้เกิดการใช้ได้อย่างแท้จริง ที่ผ่านมามีนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ถูกคิดค้น และเป็นผลผลิตจากการเรียนการสอนที่เน้นการลงมือปฏิบัติ ตามอัตลักษณ์ของอาชีวศึกษา ทำให้ได้ผลงานนวัตกรรม การพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ขึ้นเอง ที่สำคัญคือได้พัฒนาทักษะ กำลังของอาชีวศึกษาเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ล้วนมีความน่าสนใจ ใช้งานได้จริง และมีความหลากหลาย เช่น รถสามล้อ eTuk Tuk ปากน้ำโพ รถยนต์ไฟฟ้า Kotaka EV สำหรับคนพิการ และ รถไฟฟ้า KOTAKA SPORT EV ของวิทยาลัยเทคนิคนครสวรรค์ รถยนต์ไฟฟ้า (โบราณ) ลดมลภาวะประหยัดพลังงาน ของวิทยาลัยการอาชีพศรีสัชนาลัย และรถไฟฟ้า คาเฟ่ ที่ดัดแปลงเป็นรถขายอาหารเคลื่อนที่ได้ของ วิทยาลัยเทคนิคนิคมอุตสาหกรรมระยอง ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานจากทั่วประเทศ ซึ่งมีอีกจำนวนมาก และที่มีความน่าสนใจ พร้อมที่จะถูกนำไปต่อยอดในเชิงอุตสาหกรรมและในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ จากผลงานของอาชีวศึกษาที่สามารถผลิตขึ้นเองได้ในประเทศ จะถูกนำเข้าสู่ระบบของการจดอนุสิทธิบัตรและสิทธิบัตรต่อไป โดยในปีที่ผ่านมาสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา (สวพ.) สอศ. ได้พัฒนาส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เพื่อชุมชนในประเภทต่างๆ กว่า 1,200 ผลงาน เกิดการพัฒนานักวิจัย 64 คน มีนักเรียน นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ 3,645 คน และมีเครือข่ายชุมชน หน่วยงาน และกลุ่มต่างๆ จำนวน 785 แห่ง รวมถึงผลงานสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมฯ ได้รับการจดอนุสิทธิบัตรและสิทธิบัตรจำนวน 49 ผลงาน โดยมีมูลค่ารวมของผลงานเบื้องต้นกว่า 80 ล้านบาท
เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ สอศ.ได้ร่วมผนึกกำลังกับทุกภาคส่วนทั้งผู้ประกอบการภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งความร่วมมือกับอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนอาชีวศึกษาภาครัฐและเอกชน (อ.กรอ.อศ.) กลุ่มอาชีพยานยนต์และชิ้นส่วน และ (อ.กรอ.อศ.) กลุ่มอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อพัฒนาคุณภาพในการจัดการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียน ได้เรียนรู้งาน อาชีพ และพัฒนาทักษะในอนาคต เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในประเทศ โดยได้การดำเนินงานในการพัฒนาหลักสูตรเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า และเตรียมแผนในการเสอนจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง การจัดทำฐานข้อมูล Demand, Supply และรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง การพัฒนากำลังคนด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยจัดทำหลักสูตร Re-Skill, Up-Skill และ New-Skill อีกด้วย ซึ่ง สอศ. ตั้งเป้าหมายเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนระบบนิเวศ (Ecosystem) ของอุตสาหกรรมยานพาหนะไฟฟ้า ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศ เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถผลิตได้เองในประเทศจากฝีมือของคนอาชีวศึกษา ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ