เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) ผ่านระบบ Video Conference ว่า การประชุมวันนี้เพื่อกำชับการเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2565 โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมั่นเรื่องของมาตรการความปลอดภัยต่าง ๆ  ของอาคารสถานที่ ระบบไฟฟ้า เป็นต้น เพื่อให้เด็ก ๆ มาเรียนหนังสือด้วยความปลอดภัย และได้ย้ำเรื่องการสอนเสริมเพื่อแก้ปัญหาภาวะการณ์เรียนรู้ถดถอย หรือ Learning Loss ของนักเรียนอันสืบเนื่องมาจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด 19 รวมถึงเน้นย้ำการประสานงานกันในพื้นที่เพื่อตามเด็กตกหล่นกลับมาสู่ระบบการศึกษา ตามโครงการพาน้องกลับมาเรียน โดยขอให้ดูแลเด็กในทุกด้านทั้งร่างกายและจิตใจ รวมทั้งองค์ความรู้และพฤติกรรมของเด็กด้วยเพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนอย่างมีความสุข

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า การประชุมวันนี้เป็นการเน้นย้ำเรื่องการเตรียมพร้อมเปิดภาคเรียน 2565 ที่จะเปิดพร้อมกันในวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ซึ่งเป็นการเปิดเรียนแบบOnsite เป็นหลัก โดยที่ประชุมได้เน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยเพื่อให้เด็ก ๆ เรียนอย่างมีความสุข โดยจะมีการรณรงค์การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ให้ครูและนักเรียนให้มากที่สุดรวมถึงผู้ปกครองด้วย ขณะเดียวกันจะมีการประเมินความพร้อมของโรงเรียนตามหลักการของกระทรวงสาธารณสุข การดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัย 6-6-7 และการสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองเรื่องการตรวจ ATK การฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนแล้วจะมาเรียนที่โรงเรียนได้หรือไม่

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด 19 หรือ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการพาน้องกลับมาเรียน ซึ่งพบว่า สพฐ.มีนักเรียนประมาณ 28,000 คนที่หลุดจากระบบการศึกษา โดยขณะนี้สามารถตามเจอตัวมาได้แล้ว 97% หรือ 27,000 กว่าคน เข้าสู่ระบบการศึกษา 18,000 กว่าคน คิดเป็น68% ของเด็กที่ตามตัวเจอ ส่วนอีก 8,000 กว่าคน ยังไม่เข้าสู่ระบบการศึกษา คิดเป็น 32% ยังไม่เจอตัวเกือบ 500 คน คิดเป็น 2% ของเด็กดที่หลุดออกจากระบบ โดยส่วนใหญ่เป็นเด็กต่างด้าวที่กลับบ้านไปแล้วไม่กลับมาเรียน  และอีก 1% หรือ 300 กว่าคน กำลังติดตาม ซึ่งก็ต้องมาดูว่าทำไมไม่กลับมาเรียนแล้วถ้าจะกลับมาจะต้องดูแลอย่างไร อย่างไรก็ตาม สพฐ.ได้เน้นย้ำให้ผู้บริหารในพื้นที่ใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงเด็กด้อยโอกาสให้เป็นได้โอกาสให้สอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ให้ใช้การศึกษาลดความเหลื่อมล้ำให้ได้  นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำเรื่องการเตรียมการจัดการเรียนการสอนปีการศึกษา 2565 ให้เป็นการเรียนการสอนเพื่อซ่อมเสริม ในส่วนที่ขาดหายไปในช่วงโควิดระบาด 2 ปี โดยจะต้องมีการประเมินว่า เด็กขาดอะไร จะต้อง เติม ซ่อม เสริม เรื่องอะไรบ้าง รวมถึงให้ตรวจสุขภาพอนามัยของเด็กด้วยเพื่อจะได้ซ่อม เสริมได้ตรงจุดและตรงตามความต้องการของเด็ก

“เรื่องความปลอดภัยนอกจากความปลอดภัยจากโควิดแล้ว ยังต้องดูแลความปลอดภัยด้านอื่นๆ ด้วย ทั้งภัยธรรมชาติ ภัยพิบัติ หรือ อุบัติภัยต่าง ๆ  ขณะเดียวกันในส่วนของครูและบุคลากรก็ต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้สินครู สถานีแก้หนี้ครูที่มีอยู่ต้องเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลครูทุกคนทั้งที่มีหนี้และไม่มีหนี้ และต้องวิเคราะห์ว่าครูที่ไม่มีหนี้มีการดำเนินชีวิตอย่างไร เพื่อเป็นแบบอย่างให้ครูที่มีหนี้ ขณะเดียวกันก็ต้องดูด้วยว่าครูที่มีหนี้มีปัญหาอะไร เพื่อจะได้ช่วยแก้ปัญหาให้ได้อย่างตรงประเด็น”ดร.อัมพรกล่าวและว่า สำหรับ ข้อมูลการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ล่าสุด พบว่า เด็กที่อายุ 5-11 ปี ฉีดยังฉีดวัคซีนน้อยอยู่ 3-4% จากนักเรียนทั้งหมด กว่า 3 ล้านคน ดังนั้นเราจึงต้องเร่งทำความเข้าใจให้กับผู้ปกครองเพิ่มมากขึ้น

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments