ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้เป็นประธานพิธีเปิดงานโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการทักษะอาจารย์ที่ปรึกษา เพื่อพัฒนา Soft Skills นักศึกษาด้วยกระบวนการวิศวกรสังคม (วศค.) โดยทางมบส.เป็นเจ้าภาพจัดงานดังกล่าว ซึ่งมีอาจารย์ที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ต่าง ๆเข้าร่วมจำนวนมาก ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี (มรธ.)มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ (มรวอ.) มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี (มรท.) มรภ.รำไพพรรณี มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ (มรร.)มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม (มรน.) มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี (มรภ.อบ.) มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม(มรม.) และ มบส. ซึ่งโครงการอบรมดังกล่าว เพื่อต้องการให้อาจารย์ที่ปรึกษามีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะการให้คำปรึกษาในการพัฒนาศักยภาพนักศึกษา และสามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดให้แก่นักศึกษาได้ หรือเราอาจจะเรียกอาจารย์ที่ปรึกษาว่าเป็น “โค้ชวิศวกรสังคม” ก็ได้
ผศ.ดร.ลินดา กล่าวต่อไปว่า “ทักษะวิศวกรสังคม” (Social Engineer Skills) เป็นการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และเป็นทักษะเฉพาะของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่ได้รับการปลูกฝัง อบรม ให้ความรู้ ผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์เชิงเหตุผล ค้นหาปัญหาที่แท้จริง คิดอย่างเป็นระบบ คิดเชิงสร้างสรรค์ คิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) และลงมือทำอย่างมีระบบ แบบแผน ขั้นตอนตามหลักวิชาซึ่งที่ผ่านมาสำนักกิจการนักศึกษา มบส.ได้ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับวิศวกรสังคมทั้งทางด้านให้ความรู้ด้านวิศวกรสังคมให้แก่นักศึกษา และจัดโครงการอบรมแม่ไก่ วิศวกรสังคม มหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มรัตนโกสินทร์และกลุ่มภาคกลางภายใต้โครงการยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น เพื่อให้นักศึกษาวิศวกรสังคมได้นำองค์ความรู้ไปปฏิบัติเเละประยุกต์ใช้ในการลงชุมชน ตามปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ตลอดจนพัฒนาบัณฑิตมีคุณภาพเป็นที่ต้องการของผู้ใช้บัณฑิต ด้วยคุณลักษณะ 4 ประการ คือ1.มีทัศนคติที่ดีและถูกต้อง 2.มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคงเข้มแข็ง 3.มีงานทำ มีอาชีพ และ4. เป็นพลเมืองดีมีระเบียบวินัย
“สิ่งที่คาดหวังว่าจากอาจารย์ที่ปรึกษาที่เข้าอบรมคือสามารถนำ soft skill ด้วยกระบวนการวิศวกรสังคม ไปใช้ในการสนับสนุน แนะให้คำปรึกษาในการลงพื้นที่ เพื่อกำหนดเครื่องมือหรือคำแนะนำต่อวิศวกรสังคม มีเครือข่ายอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อเป็นที่ปรึกษาให้แก่นักศึกษาวิศวกรสังคม กิจกรรมของมหาวิทยาลัยลงสู่ชุมชนโดยผ่านกระบวนการวิศวกรสังคม และเกิดความร่วมมือจากเครือข่ายชุมชน เพื่อเกิดนวัตกรรมหรือองค์ความรู้ในการพัฒนาชุมชนเป้าหมายต่อไป” ผศ.ดร.ลินดา กล่าว.