เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2565 ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (กกศ.) เปิดเผยว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้รับโจทย์ใหญ่ จากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศึกษาธิการ) ในการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต (กลุ่มเด็กปฐมวัย และผู้สูงอายุ) พ.ศ. 2565-2569 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามบันทึกข้อตกลงการบูรณาการความร่วมมือ 7 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และกระทรวงแรงงาน ที่มุ่งเน้นเจาะลึกลงไปในกลุ่มเด็กปฐมวัยสู่วัยผู้สูงอายุ โดยจะร่วมกันสนับสนุน ส่งเสริมการดำเนินงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ครอบคลุมทุกมิติและทุกช่วงวัย ภายใต้ความท้าทายของโลกสมัยใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและผันผวนอย่างต่อเนื่อง หรือ VUCA World ซึ่งจำเป็นต้องชี้ทิศทาง ที่มีความชัดเจนและสร้างผลกระทบที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตของคนทุกกลุ่มเป้าหมาย
เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญของการตอบโจทย์ดังกล่าว คือ ต้องขับเคลื่อนพิมพ์เขียวการสร้างกำลังคน หรือ Skill Mapping เพื่อกำหนดทิศทางการศึกษาและการพัฒนากำลังคนของประเทศให้มีสมรรถะสูงและสอดคล้องกับเศรษฐกิจใหม่ มีเส้นทางชีวิตชัดเจนในทุกช่วงวัย โดยยึดโยงกับเสาหลักเศรษฐกิจไทยให้เข้ากับการกำหนดเป้าหมายอนาคต “เด็กไทย 2025 เพื่อเศรษฐกิจไทย” ทั้งนี้ จากการวิจัยของ สกศ. ที่ได้ศึกษาทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต (Future SKill) ได้สังเคราะห์ทักษะสำคัญ 5 ประการ ที่ครอบคลุม 4 ช่วงวัย ดังนี้ 1.ช่วงปฐมวัย (0-5 ปี) ต้องทักษะ ดังนี้ มีความคิดเชิงสร้างสรรค์ ความอยากรู้อยากเห็น มีความสามารถทางกายภาพ แก้ไขปัญหาได้เอง อ่านออกเขียนได้ และรู้จักเข้าใจการใช้เทคโนโลยี 2.ช่วงวัยเรียน/วัยรุ่น (5-21 ปี) ต้องมีทักษะ ดังนี้ ความอยากรู้อยากเห็น เป็นผู้เรียนรู้ในเชิงรุก เข้าใจความเป็นพลเมืองที่ดี อ่านออกเขียนได้ และรู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัล 3.ช่วงวัยแรงงาน (15-59 ปี) ต้องมีทักษะ ดังนี้ สามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ มีความคิดเชิงสร้างสรรค์ มีความรู้เชิงธุรกิจที่สามารถต่อยอดเป็นผู้ประกอบการได้ และใช้เทคโนโลยีได้ดี และ 4.ช่วงวัยผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ต้องมีทักษะ ดังนี้ ความรู้ด้านสุขภาพ สามารถปรับตัวได้กับสถานการณ์ต่าง ๆ มองโลกในแง่ดี เข้าใจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และแก้ไขปัญหาได
ดร.อรรถพล กล่าวอีกว่า บทสังเคราะห์จากงานวิจัย สกศ. สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ต่อไปทุกช่วงวัยล้วนต้องปรับตัวและเลือกใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาตอบโจทย์ชีวิตประจำวัน จุดเปลี่ยนสำคัญของระบบการศึกษา จึงต้องสร้างคนรุ่นใหม่ที่รู้เท่าทันการ เปลี่ยนแปลง ทบทวนตนเอง และกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ ๆ ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาสังคมสูงวัย สวนทางกับอัตราการเกิดของประชากรไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ในปี 2564 มีอัตราการเกิดราว 5.4 แสนคน ถือเป็นอัตราต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ยิ่งทำให้เกิดช่องว่างของวัยแรงงาน ที่ขยายกว้างออกไปอีก ขณะที่ตำแหน่งงานในอนาคตกำลังต้องการกำลังคนที่มีทักษะและสมรรถนะระดับสูงที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทาง สกศ. จะได้สรุปแนวทางดังกล่าวรายงาน รมว.ศึกษาธิการ ต่อไป