ที่จังหวัดกระบี่ ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมช.ศึกษาธิการ)พร้อมด้วย ดร.พะโยม ชิณวงศ์ ประธานคณะทำงาน รมช.ศึกษาธิการ นายวัลลพ สงวนนาม เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) และ ดร.ปรเมศวร์ ศิริรัตน์ รองเลขาธิการ กศน.ได้ลงพื้นที่พร้อมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ…ศึกษาดูงาน ระหว่างวันที่ 9-11 เมษายน 2565 โดย ดร.กนกวรรณ ฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ… กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ เป็นการมารับฟังข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็น เกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ รวมถึงรวบรวมประเด็นปัญหาและอุปสรรคที่เกิดจากการทำงานส่งเสริมการเรียนรู้ของกศน. เพื่อให้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ เกิดประโยชน์สูงสุดในการดูแลประชาชน ซึ่งคณะกรรมาธิการฯตกลงกันว่าจะลงพื้นที่เก็บข้อมูลในทุกภูมิภาค โดยเริ่มต้นที่ภาคใต้เป็นภาคแรก
“จากการรับฟังภาคีเครือข่าย กลุ่มสตรี กลุ่มอาสาสมัครกศน.และกลุ่มอื่น ๆ ทำให้เห็นว่าจะต้องมีการให้ขวัญกำลังใจครูในพื้นที่ โดยคิดว่าจะต้องเพิ่มครูกศน.ตำบล ทั้งประเทศอีกตำบลละ 1 คน และที่สำคัญจะต้องมีการจัดงบประมาณ เพื่อการพัฒนาอาชีพให้สอดคล้องและเหมาะสมกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยทางกรรมาธิการฯเห็นว่าที่ผ่านมางบฯพัฒนาอาชีพยังน้อยเกินไป จำเป็นต้องพิจารณาให้มากขึ้น เพราะเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์สูงสุดที่จะทำให้ประชาชนมีงานทำ มีรายได้และมีความสุข รวมถึงจะต้องมีการเพิ่มวัสดุฝึกให้แก่ผู้เรียนอย่างเพียงพอกับความต้องการด้วย”รมช.ศึกษาธิการ กล่าวและว่า กรรมาธิการฯจะพยายามทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ดีที่สุด ผู้เรียนได้ประโยชน์สูงสุด ทั้งวิชาการและวิชาชีพ
นายนิยม เวชกามา รองประธานคณะกรรมาธิการฯ คนที่ 3 กล่าวว่า เท่าที่ฟังจากเครือข่ายและอาสาสมัคร ต้องการให้มีการจัดหลักสูตรตามความต้องการของท้องถิ่น ซึ่งกรรมาธิการรับที่จะไปปรับแก้ร่างกฎหมาย โดยจะมีการเปิดกว้างในบางประเด็นที่อาจจะมีข้อจำกัดมากเกินไป เช่น เรื่องของอายุในการเทียบระดับที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าต้อง 20 ปีขึ้นไป ต่อไปก็ต้องไม่จำกัด แต่ให้พิจารณาวุฒิภาวะได้
นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน กรรมาธิการฯ กล่าวว่า ครูอาสาได้เสนอว่าให้เสริมเรื่องอาชีพให้กับผู้เรียนในทุกระดับ อย่างน้อยเมื่อเรียนจบสายสามัญก็จะมีอาชีพติดตัวไปด้วย
นายธนกร ไชยกุล กรรมาธิการฯ กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีการกำหนดให้กศน.ตำบลเป็นสถานศึกษา สามารถออกวุฒิบัตรได้ เรื่องนี้กรรมาธิการ ก็จะลงมาถามความคิดเห็น ผู้อำนวยการ กศน.ด้วย เพราะเมื่อเป็นสถานศึกษาก็ต้องมีคณะกรรมการสถานศึกษาเป็นภาคีเครือข่ายที่จะมาช่วยจัดการเรียนการสอน นอกจากนี้โครงสร้างกศน.ระดับจังหวัดควรมีบอร์ด หรือคณะกรรมการหรือไม่ ซึ่งจะสามารถขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเรียนรู้ได้ ดีกว่าที่จะมีผู้อำนวยการกศน.จังหวัดเพียงคนเดียว
นางกอบกุล อาภากร ณ อยุธยา กรรมาธิการฯและที่ปรึกษา กล่าวว่า จากการรับฟังนักศึกษากศน.คนหนึ่งถามมาว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่ กศน.จะสอนถึงระดับปริญญาตรี ดังนั้นถ้าร่างกฎหมายฉบับนี้จะเปิดกว้างให้กศน.สามารถสอนได้ถึงปริญญาตรีได้ แต่จะต้องประสานงานกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม(อว.)ให้ช่วยทำลู่ทางให้ ซึ่งกำลังคิดว่าเราจะเขียนกฎหมายอย่างไร
นายปองพล ซ้ายเส้ง นายกเทศมนตรีตำบลเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ กล่าวว่า เทศบาลตำบลเหนือคลองจะวางแผนสนับสนุนกศน.ว่ามีวัสดุการเรียนการสอนอะไรที่ทางเทศบาลจะช่วยได้ เพื่อให้ครูจะได้ไม่ออกเงินส่วนตัว และเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)อื่น ๆ ในการสร้างและร่วมกับกศน.บูรณาการการจัดการศึกษาร่วมกัน