เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 ที่ ห้องประชุม สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการความร่วมมือทางวิชาการ ประจำปีการศึกษา 2565-2567 ระหว่างสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับ สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) โดยนายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวรายงานในพิธีเปิดการลงนามว่า สืบเนื่องจากประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ซึ่งมีกิจกรรมปฏิรูปที่ 2 หรือ Big Rock 2 การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 โดยกำหนดให้ปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนตามหลักสูตรอิงมาตรฐาน(Standard-based Curriculum) ในปัจจุบันไปสู่การเรียนรู้ที่พัฒนาสมรรถนะผู้เรียนเป็นสำคัญ เป้าหมายปฏิรูปการเรียนรู้ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา จึงกำหนดให้ปรับเปลี่ยนการเรียนการสอน เป็นแบบ Active Learning และใช้เกณฑ์มิติคุณภาพ Rubrics จัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน
รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การเรียนรู้แบบ Active Learning จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับคุณภาพของผู้เรียนที่มีศักยภาพ และความถนัดที่แตกต่างการให้สามารถถักทอสร้างความรู้ตั้งแต่ระดับขั้นรับรู้ไปจนถึงระดับหลักการ และนำหลักการไปเรียนรู้และพัฒนางาน พัฒนาอาชีพได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่จึงมีความต้องการที่จะพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษาให้มีศักยภาพดังกล่าวให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้ร่วมมือกับสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนามาเป็นที่ประจักษ์ เพื่อร่วมกันพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาให้เป็นไป ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาที่ได้กำหนดกิจกรรมปฏิรูปที่ 2 ให้บรรลุเป้าหมาย
ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เนื่องจากเป็นที่พิสูจน์แล้วว่าการเรียนการสอนแบบ Active Learning ได้ประโยชน์กว่าการเรียนการสอนแบบเก่าที่เคยใช้กันมานานที่เรียกว่า Passive Learning มาก คือ 1. ผู้เรียนมีบทบาทในการมีส่วนร่วมได้อย่างมาก มีการปฏิบัติจริง จึงทำให้จดจำได้นาน และทำให้เข้าใจเรื่องได้เร็ว แม้จะเรียนเพียงเรื่องเดียวก็สามารถนำไปประยุกต์กับเรื่องอื่น ๆ ได้ 2.ทำให้ครูและนักเรียนเรียนด้วยกัน มีความเป็นกันเอง ทำให้บรรยากาศในการเรียนดีขึ้น ทำให้สรุปได้ว่าทำให้เข้าถึงบทเรียนได้ง่าย เร็ว และสนุก สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเรื่องอื่น ๆ ใช้แก้ปัญหาชีวิตในอนาคตได้ เพราะเด็กได้ทดลองปฏิบัติ และได้เรียนรู้ว่าหากเจอปัญหาอะไรก็สามารถประยุกต์ได้ ไม่เหมือนการเรียนแบบ Passive Learning ที่เรียนเท่าไหร่ก็ได้เท่านั้นไม่สามารถคิดต่อเองได้ จึงเป็นนโยบายของรัฐบาลและอยู่ในแผนปฏิรูปประเทศที่ต้องการเห็นการเรียนการสอนแบบ Active Learning ในทุกระดับความรู้ ไม่ว่าจะเป็นอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา จนถึงอุดมศึกษา
รองนายกฯ กล่าวต่อไปว่า ความยากลำบากของ Active Learning ประการที่ 1 คือ ครูไม่เคยสอนแบบนี้มาก่อน เมื่อจะเปลี่ยนให้ครูมาสอนโดยวิธีนี้ครูก็ต้องเหนื่อยขึ้น หนักขึ้น ทำการบ้านมากขึ้น และต้องมีความเข้าใจมากขึ้น ดังนั้นการมีคอร์สหรือพี่เลี้ยงจึงเป็นเรื่องจำเป็น สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการจะเป็นคอร์สได้เป็นอย่างดี ประการที่ 2 คือ เรื่องหลักสูตรหรือตำราที่จะนำมาใช้ในการเรียนการสอน ที่จะไม่ใช่แบบเดิม ๆ ที่เคยใช้กัน ประการที่ 3 คือ ผู้เรียนที่ต้องมีความพร้อมที่จะรับการเรียนแบบนี้ และประการที่ 4 คือ ผู้ปกครองต้องมีความเข้าใจ หากเด็กกลับบ้านแล้วไม่ทำการบ้านเหมือนเมื่อก่อน แต่เด็กจะไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ซึ่งเป็นการปฏิบัติเพื่อนำไปแสดงในห้องเรียน ผู้ปกครองจะต้องเข้าใจและให้ความร่วมมือ เพราะฉะนั้นทุกคนจะต้องมีความพร้อมจึงจะทำให้เกิดระบบ Active Learningที่สมบูรณ์ได้
“ความร่วมมือครั้งนี้ เชื่อว่า พว.จะเป็นทั้งพี่เลี้ยง ที่ปรึกษา เป็นแหล่งข้อมูลให้แก่ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ในการลงมือปฏิบัติต่อไป ผมมีความยินดีมากที่ได้เห็นการลงนามบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ และปรารถนาที่จะเห็นความร่วมมือในเขตพื้นที่อื่น ๆ ด้วย เพราะต้องการจะเห็นการเรียนการสอนแบบ Active Learningโดยใช้กระบวนการ GPAS 5 Steps ให้ทั่วถึงหลากหลาย และหวังว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จและสามารถนำไปต่อยอดได้ในโอกาสต่อไป”ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุกล่าว
ดร.ยุพิน บัวคอม ศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.) เชียงใหม่มีวิสัยทัศน์ให้ประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา ได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ มีทักษะการเรียนรู้ทีศตวรรษที่ 21 จึงให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนการเรียนการสอนแบบ Passive Learning ไปสู่ Active Learning เพื่อให้นักเรียนของจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้ร่วมสร้างนวัตกรรม เป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง ดังนั้นกระบวนการคิดชั้นสูง GPAS 5 Steps จะช่วยเสริมและเชื่อมโยงนักเรียนกับบริบทที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติ เพื่อสร้างองค์ความรู้ ที่สามารถแก้ปัญหา และผลิตนวัตกรรมเพื่อพัฒนาท้องถิ่น นำนักเรียนไปสู่ความภาคภูมิใจในท้องถิ่น ผู้ปกครองมีความเชื่อมั่นในการจัดการศึกษาของจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้ ศธจ.เชียงใหม่ โดยกลุ่มเชียงใหม่การศึกษาทุกสังกัดจะนำข้อตกลงไปพัฒนาครูและบุคลากรให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อพัฒนานวัตกรรมการสอนที่จะเสริมสร้างให้นักเรียนเป็นนวัตกรต่อไป
ด้าน ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหารสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) กล่าวว่า ถือเป็นเกียรติที่ ศธจ.เชียงใหม่ให้ความไว้วางใจ พว.ในการร่วมมือพัฒนาคุณภาพการศึกษาเชิงระบบของสถานศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ ให้สอดคล้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 54 มาตรา 258 จ(4) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ตามที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา พลิกโฉมการศึกษาด้วยการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ การพัฒนาครูและบุคลากรให้เป็นมืออาชีพสามารถปรับการสอนจาก Passive Learning ไปสู่ Active Learning สร้างนักเรียนเป็นนวัตกรเพื่อพัฒนาสมรรถนะให้ผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง มุ่งเน้นกระบวนการเรียนรู้แบบถักทอ สร้างความรู้ ทักษะ คุณลักษณะของผู้เรียนเข้าด้วยกันด้วยการลงมือปฏิบัติจริงแบบ Active Learning ทำให้ผู้เรียนเรียนรู้อย่างมีความสุขและเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
“พว.ได้นำจุดเน้นของการจัดการเรียนรู้แต่ละระดับตามแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษามาใช้เป็นแนวทางการพัฒนาผู้เรียนโดยใช้กระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps พัฒนาผู้เรียนสู่ความเป็นเลิศตามพหุปัญญา สามารถคิดเชื่อมโยงทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่ต้องเผชิญกับความท้าทายตามวิถีชีวิตใหม่ และสามารถสร้างความรู้ระดับความคิดรวบยอดและระดับหลักการนำไปใช้แก้ปัญหา ผลิตผลงานได้อย่างสร้างสรรค์ ต่อยอดนวัตกรรมให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเอง ครอบครัว สังคม ซึ่งมีผลเชิงประจักษ์แล้ว จึงเชื่อว่านักเรียนในจังหวัดเชียงใหม่จะได้รับโอกาสความเสมอภาค ความเป็นธรรมและความทั่วถึงในการเข้าถึงการศึกษาและการบริการที่มีคุณภาพ ส่งผลให้ผู้เรียนเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่เข้มแข็งตามวิสัยทัศน์ของประเทศไทย”ประธาน พว.กล่าว